บทที่ 1 ความหมาย และวัตถุประสงค์ ของการศึกษาปรัชญา
บทที่ 2 เครื่องมือของ ปรัชญาและ เหตุผล
บทที่ 3 มนุษยภาวะ
บทที่ 5 ความหมายและ ความจำเป็นของคุณธรรม
บทที่ 6 สังคมอุดมคติ
บทที่ 7 ความรู้ของมนุษย์
บทที่ 8 ปัญหาเรื่องความจริง และสิ่งที่เป็นจริง
บทที่ 9 เพศกับความคิด
บทที่ 10 มาร์กซ์ กับ พระพุทธเจ้า
หมายเหตุ
ไม่ทราบว่าเป็นงานค้นคว้าและวิจัยของผู้ใด หรือสถาบันใด ไม่ทราบแหล่งที่มา และผู้เขียนงานชิ้นนี้ พบโดยบังเอิญ อ่านแล้วเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ แก่ผู้ที่สนใจทางด้านปรัชญา จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ เป็นวิทยาทาน โดยตั้งหัวข้อเรื่องเองตามความเข้าใจ
บทที่ 2 :: เครื่องมือของปรัชญา และ เหตุผล
ความคิดทางปรัชญา นักปรัชญาให้ความสนใจกับแนวคิดต่าง ๆ (เช่น ความเป็นมนุษย์ ความรู้ ถูก-ผิด โชคชะตา ฯลฯ) และพยายามจัดการกับแนวคิดนามธรรมเหล่านั้นด้วยความคิดที่เรียกว่า การวิเคราะห์ และการวิจารณ์
การวิเคราะห์ (analytical thinking)
พยายามค้นหาธรรมชาติของบางสิ่งบางอย่าง ด้วยคำถามเพื่อจำแนกองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรื่องนั้น นักปรัชญาต้องการหาความกระจ่างของแนวคิดที่ต้องการศึกษาด้วยการจำแนกให้เป็นแนวคิดย่อย ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ อาทิ การวิเคราะห์ข้อโต้แย้งเกี่ยวข้องกับการทำแท้งที่ว่า ตัวอ่อนในครรภ์ของมารดาเป็นมนุษย์หรือไม่? นักปรัชญาจะเริ่มด้วยการวิเคราะห์แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับ “ความเป็นมนุษย์” เช่น แม้ว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์ของมารดาจะมีความสำคัญ แต่ยังไม่เกี่ยวข้องโดยตรงในตอนนี้ เพราะต้องมีการวิเคราะห์และกำหนดความหมายของ “มนุษย์” เสียก่อน ว่าองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ได้แก่อะไรบ้าง จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีรูปแบบทางชีวภาพ หรือ มีความรู้สึกตัว หรือมีความสามารถในการคิด หรือ ความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น หรือค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาในภายหลัง เป็นต้น ในการค้นหาคำตอบให้แก่แนวคิดใด ๆ เราจำเป็นต้องแยกแยะสิ่งที่เรียกว่า เงื่อนไขที่จำเป็น และเงื่อนไขที่เพียงพอ
เงื่อนไขที่จำเป็น (necessary conditions)
เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต้องมีสำหรับบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็นแนวทางของคำถาม
เงื่อนไขที่เพียงพอ (sufficient conditions) เป็นชุดของเงื่อนไขที่จำเป็นที่หากมีเพียงพอก็สามารถทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวอย่างของแนวคิดนั้น ๆ ได้ นักปรัชญาจะแจกแจงรายการทั้งสิ่งที่เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและเงื่อนไขที่พอเพียง เพื่อการจัดทำลำดับความสำคัญของแนวคิด ให้สามารถอธิบายลักษณะที่จำเป็นต้องมีอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ตัวอย่าง เงื่อนไขที่จำเป็น และเงื่อนไขที่พอเพียง
สำหรับการฟังเพลงด้วยเครื่องเล่นเทปแบบ Walkman
1. เป็นเครื่องเล่นเทปที่ทำงานได้ดี
2. แบตเตอรีมีคุณภาพดี
3. มีสีเหลือง
4. กันน้ำได้
5. มีหูฟังที่ถอดแยกออกได้
6. เล่นเพลงหรือฟังวิทยุได้
7. สามารถควบคุมการทำงานได้โดยตรง หรือ รีโมท
จะเห็นได้ว่า 1, 2, 5,6 และ 7 เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น ที่เมื่อรวมกันแล้วจะเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอ ส่วน 3,4 ไม่มีความสัมพันธ์กับคำถาม แต่บางครั้งเงื่อนไขที่จำเป็นและเงื่อนไขที่เพียงพอก็กลายเป็นสิ่งเดียวกันเช่น การจะเรียนให้ได้เกรดในรายวิชาใด ๆ สิ่งที่จำเป็นก็คือ การลงทะเบียนเรียนในรายวิชานั้น ๆ (เป็นทั้งเงื่อนไขที่จำเป็นและเงื่อนไขที่เพียงพอ) เพราะเรากำลังพูดถึงการเรียนให้ได้เกรด ซึ่งมีได้ตั้งแต่ A - F, I, W (ส่วนเงื่อนไขที่จำเป็นและเงื่อนไขที่เพียงพอของการเรียนให้ได้เกรดที่ดีมีมากกว่านั้น )
การวิจารณ์ (Critical Thinking)
คือ การตั้งข้อสังเกตหรือ ข้อสงสัยที่ดี และใช้ทักษะการวิเคราะห์ เพื่อช่วยให้เราสามารถพิจารณาความน่าเชื่อถือด้วยการที่สิ่งที่วิจารณ์นั้นวางอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง หรือมีเหตุผลที่ดี การมีความเห็นคล้อยตาม หรือการอ้างคำพูดของผู้อื่นที่เคยกล่าวไว้ ไม่ใช่ความคิดที่เป็นการวิจารณ์ เช่น “การทำแท้งเป็นสิ่งที่ศีลธรรมควรยอมรับเพราะกฎหมายระบุว่าสามารถทำได้” หรือ “การทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมเพราะสันตะปาปาตรัสไว้” เป็นต้น สิ่งที่เราต้องทำเมื่อพบการใช้เหตุผลแบบนี้คือ ละทิ้งตำแหน่งของสิ่งที่เป็นข้ออ้าง(กฎหมาย, สันตะปาปา) แล้วพิจารณาว่าข้อสรุปเป็นไปอย่างมีเหตุมีผลหรือไม่? เราสามารถใช้ความคิดที่เป็นการวิจารณ์ในชีวิตประจำวันได้ เพราะเราต้องอธิบายการกระทำหรือความคิดของเราให้แก่ผู้อื่นอยู่เสมอ ๆ ยิ่งกว่านั้น เรามักจะพยายามสร้างความเชื่อถือให้แก่สิ่งที่เราอ้างด้วย
การอ้างเหตุผล (Argumentation)
การอ้างเหตุผล ประกอบด้วย เหตุผล (reason) และข้อเสนอ(argument) หรือ ข้ออ้าง (premise) ข้ออ้าง เป็นความพยายามพิสูจน์ด้วยเหตุผลหรือหลักฐาน แล้วนำไปสู่ข้อสรุป (conclusion) บางประการ
ข้ออ้างทางปรัชญาแตกต่างจากการใช้อารมณ์ หรือการใช้แนวคิดด้านเดียว เพราะข้ออ้างทางปรัชญาเป็นการใช้เหตุผล มีระบบระเบียบ และมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้อง “ฟังขึ้น”
ตรรกะ (Logic)
ตรรกะ เป็นทั้งกระบวนการของการใช้เหตุผล และเป็นกฎเกณฑ์ในการจัดการกับกระบวนการดังกล่าว เราใช้ตรรกะในการจำแนกระหว่างข้อสรุปที่ถูกต้องและข้อสรุปที่มีความบกพร่อง รวมถึงการชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของการอ้างเหตุผลด้วย
ในการอ้างเหตุผลครั้งหนึ่ง ๆ จะมีข้ออ้างที่อ้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และเหตุผลที่ใช้ประกอบข้ออ้างนั้น ส่วนข้อความที่อยู่ถัดจากข้ออ้างหรือเหตุผลสุดท้าย เราเรียกว่า ข้อสรุป ซึ่งมักจะประกอบด้วยคำหรือวลี อย่างเช่น “ดังนั้น” “ด้วยเหตุนี้” “เพราะฉะนั้น” “เนื่องจากเหตุดังนั้น” โดยปกติการอ้างเหตุผลจะประกอบด้วย ข้ออ้างและข้อสรุป ซึ่งเป็นรูปแบบปกติ แต่ในชีวิตจริงการอ้างเหตุผลของเรามักจะไม่เป็นไปตามกฎข้างต้นเท่าใดนัก บ่อยครั้งที่เรามักจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของข้ออ้างเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่บางสิ่งบางอย่าง
ตัวอย่างการคิดเหตุผล 1
“ก ต้องพ้นสภาพนักศึกษา ม.อุบลฯ เพราะเรียนมาแล้วสองเทอม แต่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 1.50”
ข้ออ้าง ก เรียนมาแล้วสองเทอม แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 1.50
ข้อสรุป ก ต้องพ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษา ม.อุบลฯ
(หลักฐานที่นำมาอ้างอิง คือ กฎข้อบังคับของมหาวิทยาลัย)
ตัวอย่างการคิดเหตุผล 2
“คุณทวีศักดิ์เป็นผู้ชาย เพราะ ข บอกว่าเขาเป็นคุณลุงของเธอ”
ข้ออ้าง คุณทวีศักดิ์เป็นลุงของ ข
ข้อสรุป คุณทวีศักดิ์เป็นผู้ชาย
(หลักฐานที่นำมาอ้าง คือ ความจริงที่ยอมรับกันทั่วไป คือ คนที่เป็นลุง ต้องเป็นผู้ชาย)
ตัวอย่างการคิดเหตุผล 3
“ก๋วยเตี๋ยวร้านนี้อร่อยมาก เพราะฉันไปกินมาแล้วหลายครั้ง กินทีไรก็อร่อยทุกที”
ข้ออ้าง ฉันไปกินก๋วยเตี๋ยวร้านนี้มาแล้วหลายครั้ง กินทีไรก็อร่อยทุกที
ข้อสรุป ก๋วยเตี๋ยวร้านนี้อร่อย
(หลักฐานที่นำมาอ้าง คือ ประสบการณ์ของผู้พูด)
สิ่งที่เราต้องทำเมื่อพบการอ้างเหตุผล คือ การจำแนกระหว่าง ข้ออ้างที่น่าเชื่อถือ (Convincing Arguments) และ ข้ออ้างที่ไม่น่าเชื่อถือ (Unconvincing Arguments) ข้ออ้างที่น่าเชื่อถือ คือ มีการอ้างที่นำไปสู่ข้อสรุป หรือเป็นข้ออ้างที่พิสูจน์ข้อสรุป
ตัวอย่าง ข้ออ้างเพื่อแสดงว่าเหตุใดคุณจึงไม่ควรสูบบุหรี่
ข้ออ้าง: แพทย์เตือนว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดโรคหัวใจ ถุงลมโป่งพอง และมีผลต่อทารกในครรภ์ด้วย บุหรี่ยังมีนิโคตินที่ทำให้เกิดการเสพติดขึ้นได้ เมื่อคุณติดบุหรี่ก็ไม่อาจเลิกได้ง่าย ๆ
ข้อสรุป: ดังนั้น คุณไม่ควรสูบบุหรี่
ข้ออ้างที่ไม่น่าเชื่อถือ คือ การที่ข้อสรุปไม่สอดคล้องหรือไม่เป็นไปตามข้ออ้าง
ตัวอย่าง ข้ออ้างเพื่อการสนับสนุนการสูบบุหรี่
ข้ออ้าง : เกษตรกรที่ปลูกยาสูบและบริษัทที่ผลิตบุหรี่อยู่ได้ด้วยคนที่สูบบุหรี่ หากมีการสูบบุหรี่มากขึ้น ๆ เกษตรกร บริษัท พนักงาน และผู้ถือหุ้นในบริษัทก็จะสามารถทำเงินได้
ข้อสรุป : ดังนั้น คุณควรสูบบุหรี่ ในกรณีเช่นนี้เราควรสนใจข้ออ้างแต่ละข้ออย่างใกล้ชิด และพิจารณาว่าข้ออ้างนั้นนำไปสู่ข้อสรุปจริง ๆ หรือไม่ อุปสรรคของความคิดที่มีเหตุมีผล
บางครั้งการที่คนเราไม่มีเหตุผลอาจจะเกิดมาจากแรงกดดัน ความเฉื่อยชา หรือความเกียจคร้าน คนเรามักจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบการใช้ความคิดวิเคราะห์-วิจารณ์ ที่ต้องอาศัยความเอาใจใส่ ใช้พลังงาน ความขยันอดทน และใช้หลักวิชา อารมณ์ อย่างเช่น ความกลัว ความกังวล ความเห็นแก่ตัว อคติ ความเกลียดชัง การตัดสินล่วงหน้า เป็นต้น เป็นแรงผลักดันให้เราใช้เหตุผลที่มีข้อบกพร่อง ตัวอย่างความบกพร่องของการใช้เหตุผล การใช้ภาษากำกวม (ambiguity) “คุณมีตาดีทั้งที ควรใช้งานให้คุ้ม” “คนเหยียบลิงตายต้องเป็นคนว่องไวมาก” “สามวันจากนารีเป็นอื่น” “รถบริการรักษาโรคปอดเคลื่อนที่” “ครูเวรลงบันทึกว่า ‘วันนี้ครูใหญ่เมา’ วันต่อมาครูใหญ่ลงบันทึกแก้เผ็ดว่า ‘เมื่อวานครูเวรไม่เมา’
การด่วนสรุป (hasty conclusion)
“คุณอย่าไปเชื่อใจเจ้าคนนั้นอีกต่อไป เมื่อวานผมจับโกหกเขาได้”
“ตาคนนั้นใจร้ายเป็นบ้า เมื่อวานผมผ่านหน้าบ้านแก เห็นแกตบหน้าลูกชายผัวะใหญ่เลย”
เหตุผลไม่สัมพันธ์ (irrelevant conclusion) “อาจารย์สอนไม่รู้เรื่อง ไปกินข้าวกันดีกว่า”
“อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ ... คุณมาแต่งงานกับผมเถอะ”
“คนไทยต้องรักวัฒนธรรมไทย ด้วยการไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด”
การโจมตีตัวบุคคล (ad hominem)
“คุณอย่ามาว่าทฤษฎีของอาจารย์เหลวไหล ถ้าผมจำไม่ผิดคุณเคยติดคุกมาครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ใช่หรือ”
“ผมว่าอาจารย์ที่ดีย่อมเสียสละเพื่อศิษย์ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นจริง ขออาจารย์สละค่าดูหนังให้พวกผมเถอะครับ”
การทำให้อับอาย (guit by association)
“เฮ้ย พวกเรามาดูหน้าคนคิดว่าเรียนแล้วจะสอบได้ที่หนึ่งกันหน่อยเร็ว”
“ฮ่า ๆ นายนี่สงสัยจะเพี้ยนไปแล้ว เป็นไปได้หรือที่สักวันหนึ่งคนจะไปถึงดาวอังคาร”
การสรุปเกินข้ออ้าง (jumping to conclusion) “บัณฑิตบางคนประพฤติตัวไม่ดี เพราะฉะนั้นไม่ควรให้มีการศึกษาขั้นอุดมศึกษาในประเทศนี้เลย”
“ประเทศบรูไน มีขนาดเล็กมาก พื้นที่จะเพาะปลูกก็ไม่มี นับเป็นประเทศที่ยากจนที่สุด”
การอ้างพวก (stereotyping) “สาว ม.อุบลฯ งาม ๆ ทั้งนั้น”
“เขมรขาว ลาวใหญ่ ไทยเล็ก เจ๊กดำ คบไม่ได้”
“นักฟุตบอลของเราเตะเก่งทุกคน ทีมของเราจะต้องชนะแน่นอน”
การอ้างปฐมาจารย์ (appeal to authority) “พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงรถยนต์ไปประกาศพระธรรม ดังนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ควรใช้รถยนต์เป็นพาหนะเดินทางไปแสดงพระธรรมเทศนา”
“อาจารย์แม่ว่ายาสีฟันนี้ใช้แล้วฟันไม่เสียว”
“ปีเตอร์ว่าตั้งแต่ใช้รองเท้านี้แล้ว มอเตอร์ไซค์เครื่องฟิต สตาร์ทติดง่าย”
การอ้างความไม่รู้ (appeal to ignorance) “ผีไม่มี เพราะวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้”
“ไม่มีพระเป็นเจ้า เพราะจนป่านนี้นักปรัชญายังลงเอยไม่ได้”
“เชื้อโรคซารส์ไม่มีหรอก เพราะฉันมองไม่เห็น”
“คุณเรียนหนังสือแค่ประถมสี่ คุณจะเข้าใจได้อย่างไรว่าเส้นตรงอาจจะยาวกว่าเส้นคดก็ได้”
“คุณไม่เคยเรียนมา เพราะฉะนั้นเชื่อผมเถอะว่ามนุษย์ต้องสืบเชื้อสายมาจากลิงแน่ ๆ”
การอ้างความเกรงใจ (appeal to reverence) “คุณปู่ของเราเป็นคนจีน เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งชื่อสินค้าของเราที่จะส่งออกไปอเมริกาเป็นภาษาจีน”
“เราไม่ควรเปิดสอนภาษาฝรั่งเศส เพราะอธิการบดีของเราไม่ชอบคนฝรั่งเศส”
การอ้างความเห็นใจ (appeal to pity)
“อาจารย์กรุณาอย่าให้หนูได้เกรดต่ำกว่า C เลยนะคะ เพราะถ้าวิชานี้หนูได้ต่ำกว่า C หนูจะต้องรีไทร์ พ่อแม่หนูจะต้องเสียใจมาก หนูมีน้อง ๆ อีกตั้งสี่คน ที่จะต้องช่วยส่งเสียต่อไป”
การปลุกใจ (appeal to gallery)
“ท่านทั้งหลายคงจำได้ว่า พม่ายกทัพมารบกับเราบ่อยครั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งหนึ่งได้เผากรุงพินาศ เพราะฉะนั้นในวันพรุ่งนี้ ขอให้ประชาชนไทยจงพร้อมใจกันไปเป็นกำลังใจทีมฟุตบอลของเราด้วย”
การอ้างจำนวน (appeal to number) “ใคร ๆ ก็เชื่อว่าโลกแบน แล้วโลกมันจะกลมได้อย่างไร”
“ผมเห็นใคร ๆ เขาก็มาเที่ยวหนองอีเจมกันทั้งนั้น เขาทิ้งขยะกัน ผมก็เลยทิ้งบ้าง”
“เป๊บซี่ดีที่สุด เพราะคนดื่มมากที่สุด”