บทที่ 1 ความหมาย และวัตถุประสงค์ ของการศึกษาปรัชญา

บทที่ 2 เครื่องมือของ ปรัชญาและ เหตุผล

บทที่ 3 มนุษยภาวะ

บทที่ 4 การตัดสินถูกและผิด

บทที่ 5 ความหมายและ ความจำเป็นของคุณธรรม

บทที่ 6 สังคมอุดมคติ

บทที่ 7
ความรู้ของมนุษย์

บทที่ 8
ปัญหาเรื่องความจริง และสิ่งที่เป็นจริง

บทที่ 9 เพศกับความคิด

บทที่ 10 มาร์กซ์ กับ พระพุทธเจ้า

หมายเหตุ
ไม่ทราบว่าเป็นงานค้นคว้าและวิจัยของผู้ใด หรือสถาบันใด ไม่ทราบแหล่งที่มา และผู้เขียนงานชิ้นนี้ พบโดยบังเอิญ อ่านแล้วเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ แก่ผู้ที่สนใจทางด้านปรัชญา จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ เป็นวิทยาทาน โดยตั้งหัวข้อเรื่องเองตามความเข้าใจ

บทที่ 5 :: ความหมายและความจำเป็นของคุณธรรม

คนเราบางครั้งแค่รู้ว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิดเท่านั้นยังไม่พอ เพราะบ่อยครั้ง ทั้งที่เรารู้ว่าไม่ควรทำสิ่งใด แต่เราก็ทำไปบ้างเหมือนกัน พิจารณากรณีศึกษาต่อไปนี้

คุณสัญญากับคนรักว่าจะไม่สนใจใครอีกต่อไป แต่วันหนึ่งก็มีอีกคนหนึ่งที่มีเสน่ห์เย้ายวน ดึงดูดความสนใจของคุณมากจนอยากทำความรู้จัก แต่คุณก็เกิดความรู้สึก “รักพี่เสียดายน้อง” ...คุณกำลังคิดหาทางสร้างเรื่องโกหกบางอย่างขึ้น... อย่างนี้ถือว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ ?

กรณีศึกษาข้างต้น เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าการโกหกสำหรับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งผิด เพราะคุณกำลังผิดคำสัญญาและสร้างเรื่องโกหกหลอกลวงขึ้นมา แต่บางคนกลับคิดว่าทั้งที่การโกหกเป็นไม่ดี แต่ถ้าโกหกแล้วทำให้คุณมีความสุขเพิ่มขึ้น ทำไมเราไม่โกหกกันบ้าง?

ดังนั้น คำถามของเราจึงไม่ได้อยู่เพียงแค่ ถูกหรือผิดเท่านั้น ในเมื่อความปรารถนาอันแรงกล้าดึงดูดเราไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกันความรู้สึกที่ว่าเราต้องทำดีนั้น นับเป็นการยากยิ่งที่จะทำสิ่งที่เป็นคุณธรรม – จริยธรรม

เมื่อคนส่วนหนึ่งต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางจริยธรรม มักเกิดคำถามว่า “ถ้าฉันทำสิ่งที่เป็นความถูกต้อง ฉันจะได้อะไรตอบแทน?” บางครั้งการทำสิ่งที่ถูกต้องอาจจะไม่ได้ส่งผลให้คุณมีชื่อเสียง หรือมีความก้าวหน้าทันตาเห็น แต่ก็เป็นความรู้สึกดี ๆ ของเรา มิใช่หรือ? แต่ในทางปรัชญาเราต้องการเหตุผลที่ดีสำหรับการทำความดี มากกว่าเรื่องของความรู้สึก

บทสนทนาในหนังสือเรื่อง The Republic ของพลาโต (Plato) ทำให้เรารู้จักตัวละครหนึ่งชื่อว่า กลูคอน (Glaucon) ที่เชื่อว่ามนุษย์มีเจตนาไม่ดีแอบแฝงอยู่เสมอ และเหตุผลเดียวที่เราต้องทำดีก็เพราะเราจะได้บางสิ่งบางอย่างจากการทำความดี นั้น กลูคอนเห็นชีวิตที่มีคุณธรรม-จริยธรรมเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่รื่นรมย์ เขาเห็นว่าที่คนเราต้องทำสิ่งที่ถูกต้องนั้น เพียงเพราะเราไม่มีอำนาจที่จะทำในสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ดังข้อความต่อไปนี้

    (กลูคอน)

    คนเราย่อมชอบเอาเปรียบคนอื่นเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่คนก็กลัวผลอันจะบังเกิดจากการกระทำเช่นนั้น คนผู้หนึ่งอาจกระทำการอยุติธรรมได้โดยไม่ต้องรับผลกรรม แต่เราก็หวาดระแวงอยู่เสมอถึงภัยที่คนอื่นอาจคิดกระทำต่อเรา เพราะฉะนั้น ความยุติธรรม (การกระทำที่มีคุณธรรม) จึงเป็นผลเกิดจากความกลัว เราบัญญัติกฎหมายและยอมเคารพกฎหมายก็เพราะ แม้ว่าจะเห็นแก่ตัว แต่คนก็ยังรู้จักระแวดระวังเหมือนกัน

    พลาโตเสนอว่า หากคุณรู้ว่าคุณมีอำนาจทำสิ่งใด ๆ ก็ได้ตามต้องการ ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เขาอยากทราบว่าคุณจะมีคุณธรรมในการกระทำเพียงใด ?

พลาโตสร้างกลูคอนขึ้นมาให้เป็นตัวแทนของความคิดที่ว่าไม่มีคุณธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่คนส่วนมากมักจะเชื่อเช่นนั้น เพราะปัจจุบันไม่ได้ต่างจากอดีตมากนัก บางครั้งเราจะเห็นว่าคนทำความผิดแม้จะถูกจับก็ไม่ต้องรับโทษ...ลองพิจารณาดู พลาโตอาจพูดถูกก็ได้

นอกจากนี้ โสคราตีส (Socrates) เองก็มีแนวคิดเช่นเดียวกับพลาโต คือ จิตใจของคนเรามีส่วนหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมจากการทำดี และจิตใจก็จะได้รับการลงโทษจากการทำไม่ดีด้วย ดังนั้นบุคลิกภาพหรือวิญญาณที่มีพลานามัยดี จึงถูกกำหนดโดยความมีอิสระ (freedom) เจตจำนง (will) และพลัง (power) ที่จะดำรงชีวิตซึ่งเกี่ยวข้องกับศีลธรรมภายในของมนุษย์

โสคราตีสเห็นว่า มนุษย์ทุกคนต้องการใช้ชีวิตอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อให้ตนมีความสุข แม้ว่าเราจะต้องพบกับความเจ็บปวดจากความทุกข์ยาก ความอยุติธรรม ความป่วยไข้ หรือแม้แต่ความผิดหวังต่าง ๆ แต่ชีวิตที่มีคุณธรรมก็เพียงพอที่จะยืนยันความสุขให้กับเราได้ ดังคำพูดที่ว่า “แม้เราจะต้องตาย แต่ไม่มีผู้ใดประทุษร้ายต่อคุณธรรมของเราได้” หากเราทำร้ายผู้อื่นและรอดพ้นจากการลงโทษได้ แต่เรากลับทำร้าย(จิตใจ)ตัวเราเองยิ่งกว่าที่เราทำร้ายผู้อื่นด้วยซ้ำ

ลองพิจารณาดูว่า ผู้คนในปัจจุบันส่วนมากเห็นว่าความสำเร็จ ความร่ำรวย อำนาจและชื่อเสียง เป็นเครื่องแสดงถึงความสุข หาใช่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณธรรม-จริยธรรมไม่ ทัศนคติต่อ “ชีวิตที่ดี” (good life) เช่นนี้ไม่เคยเปลี่ยนไปแม้เวลาจะล่วงไปกว่าสองพันปีแล้วก็ตาม แต่ลองคิดดูว่า โสคราตีสเสนออย่างจริงจังว่า คุณธรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับความสุข หากเราทำผิด ก็เท่ากับเราถูกสิ่งนั้นทำร้าย

“คุณธรรม” ในฐานะเครื่องแสดงพลานามัยของจิตวิญญาณ ไม่ใช่ความหมายเชิงเปรียบเทียบ แต่เป็นความหมายตรงตัวทีเดียว เพราะไม่มีใครจะมีความสุขเต็มที่ หากไม่มีคุณธรรม

พลาโต เสนอแนวคิดเกี่ยวกับวิญญาณที่มีพลานามัยดี บนพื้นฐานการกระทำ 3 ด้านของมนุษย์ คือ ด้านกายภาพ (the physical) ด้านจิตวิญญาณ (the spirited) และ ด้านปัญญา (the intellectual) ทั้งนี้เขาเสนอว่าสำหรับวิญญาณที่มีพลานามัยดีนั้น จะต้องมีความสมดุลกันทั้งสามด้าน เมื่อสามารถควบคุมจิตใจได้ อารมณ์ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราทำในสิ่งที่ตัดสินใจได้ ในทางกลับกัน วิญญาณที่มีพลานามัยไม่ดีนั้น จะถูกแรงขับเคลื่อนจากความปรารถนาทางกายภาพ หรือทางอารมณ์ ซึ่งทำให้การตัดสินระหว่างความถูกต้อง และความผิด มีลักษณะคลุมเครือ ไม่กระจ่างชัดเท่าที่ควร

โสกราตีสเสนอว่า การกระทำที่ไม่มีจริยธรรมนั้น ย่อมมีให้ผลร้ายต่อผู้กระทำการนั้นอยู่แล้ว ซึ่งก็เท่ากับ มนุษย์ได้สร้างความอ่อนแอให้กับปัญญาของตน และทำให้การควบคุมความปรารถนาของตนลดน้อยลงไปด้วย

เราควรพิจารณาว่า สิ่งที่โสกราตีสกล่าวนั้นหมายถึงว่าเมื่อเราทำสิ่งผิดพลาดลงไป เราทำให้เจตจำนงของเราลดความกล้าแข็งลงไป พร้อมกับทำให้มุมมองทางศีลธรรมของเราถดถอยไปด้วย

โสคราตีสเสนอว่า ความชั่วร้าย (vice) ทำร้ายผู้กระทำใน 2 ลักษณะ คือ

ประการแรก เมื่อเราทำความชั่วร้าย เราได้ทำลายกลไกแห่งเสถียรภาพทางอารมณ์ และความสุขใจของเราลงไปแล้ว กล่าวได้ว่าเมื่อเราทำความชั่วร้าย เราย่อมสูญเสียการควบคุมอารมณ์หรือความปรารถนาของเราลงไป เราจะไม่มีวันพบความสุขได้อีก เรามีแต่จะต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประการที่สอง เมื่อเราตกเป็นทาสของความปรารถนา สติปัญญาของเราก็จะอยู่ในภาวะเซื่องซึม เราจะไม่ “ไว” ต่อพฤติกรรมด้านลบของเรา อีกทั้งแรงกดดันในใจจะใช้ร่างกายของเราเป็นเครื่องมือในการทำสิ่งต่าง ๆ ตามใจปรารถนา ดังนั้น เราก็จะอธิบายแก่คนอื่น ๆ (เริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน) ว่า การกระทำนั้นมีเหตุมีผล เป็นเรื่องดีและเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

การหาเหตุผลให้กับการทำความชั่วดูจะน้ำหนักอยู่มาก เพราะคนส่วนมากรู้อยู่แล้วว่าการทำความชั่วนั้นเป็นเรื่องง่าย ทั้งยังยากต่อการต้านทาน แต่คนที่ทำความชั่วไม่เคยคิดว่าตัวเองผิด

คนที่โกงข้อสอบ เห็นว่าเมื่อทำสำเร็จก็มักอยากจะทำอีก คนที่บังคับกดขี่คนอื่น เชื่อว่าเขาทำดีที่สุดเพื่อตัวเขา หรือเพื่อธุรกิจของเขาเอง แม้แต่มหาเศรษฐีที่หลีกเลี่ยงไม่ยอมจ่ายภาษีเมื่อซื้อเครื่องเพชรราคามหาศาล…ก็ไม่เห็นว่าตนทำในสิ่งเสีย

ทำไมคนเราต้องมีคุณธรรม
ทั้งพลาโตและโสคราตีสต่างก็ให้คำตอบที่ชัดเจนต่อคำถามนี้ไว้แล้ว กล่าวคือ คนไม่มีคุณธรรมย่อมอ่อนแอ คนที่ปราศจากอิสรภาพ การควบคุมตนเอง และสติปัญญา ย่อมไม่สามารถแสวงหาชีวิตที่มีความสุขได้

พลาโตเสนอว่า สมดุลของจิตวิญญาณประกอบด้วย สติปัญญาข้างหนึ่ง และความปรารถนาทางอารมณ์และกายภาพ อีกข้างหนึ่ง เมื่อใดที่สมดุลดังกล่าวเปลี่ยนไป กล่าวคือ การที่เราปล่อยให้ความปรารถนาครอบงำ เราก็ไม่สามารถแยกแยะระหว่างถูกกับผิดได้

เมื่อใดก็ตามที่จิตใจของเราตกเป็นทาสของความต้องการ เราก็ไม่อาจประเมินคุณธรรมในการกระทำของเราได้ ในทางกลับกัน เมื่อเรามีจิตวิญญาณที่มีพลานามัยสมบูรณ์ ไม่ถูกครอบงำจากความปรารถนาใด ๆ เราก็จะตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (good decision)

ส่วนโสคราตีสก็เสนอว่า การทำความชั่วร้ายส่งผลต่อผู้กระทำโดยการปล่อยให้ความปรารถนาของเราไร้การควบคุม ทำให้กลไกภายในจิตใจของเราถูกทำลาย และพลังสติปัญญาในการแยกแยะถูกผิดของเราก็อ่อนแรงลงไปด้วย

ลองกลับมาพิจารณาตัวคุณ ตลอดจนบุคคลรอบข้างที่คุณได้พบเห็น คุณธรรมและความชั่วร้ายมีผลต่อคุณและเขาเหล่านั้นหรือไม่ ใครควรจะเป็นคนที่แข็งแรงกว่าและมีความสุขกว่ากันระหว่างคนที่มีคุณธรรมกับคนที่ไม่มีคุณธรรม? กรณีคนไม่มีคุณธรรม คุณคิดว่าเขาถูกคุกคามจากการกระทำของเขาเองอย่างโสคราตีส กล่าวไว้หรือไม่? สุดท้าย คุณคิดว่าคุณจะได้รับอะไรจากการพยายามทำสิ่งที่ถูกต้อง



Positive Thinking Quotes and Saying