บทที่ 1 ความหมาย และวัตถุประสงค์ ของการศึกษาปรัชญา
บทที่ 2 เครื่องมือของ ปรัชญาและ เหตุผล
บทที่ 3 มนุษยภาวะ
บทที่ 5 ความหมายและ ความจำเป็นของคุณธรรม
บทที่ 6 สังคมอุดมคติ
บทที่ 7 ความรู้ของมนุษย์
บทที่ 8 ปัญหาเรื่องความจริง และสิ่งที่เป็นจริง
บทที่ 9 เพศกับความคิด
บทที่ 10 มาร์กซ์ กับ พระพุทธเจ้า
หมายเหตุ
ไม่ทราบว่าเป็นงานค้นคว้าและวิจัยของผู้ใด หรือสถาบันใด ไม่ทราบแหล่งที่มา และผู้เขียนงานชิ้นนี้ พบโดยบังเอิญ อ่านแล้วเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ แก่ผู้ที่สนใจทางด้านปรัชญา จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ เป็นวิทยาทาน โดยตั้งหัวข้อเรื่องเองตามความเข้าใจ
บทที่ 6 :: สังคมอุดมคติ
หากลองพิจารณาข่าวสารที่เราได้รับจากสื่อต่าง ๆ จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นข่าว “ด้านลบ” แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อาชญากรรมต่าง ๆ สงคราม ความยากจน การคดโกง การเอารัดเอาเปรียบ ยาเสพติด การทำทารุณเด็ก ฯลฯ
บางคนที่ไวต่อการรับข่าวสารเหล่านั้น อาจเกิดความคิดว่า “น่าจะมีหนทางที่ดีกว่านี้” หรือ บางคนอาจจะอยากจัดการทุกอย่างด้วยตนเองตาม “สังคมอุดมคติ” เขาคิดว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้
แม้ว่าเราจะไม่สามารถจัดการทุกอย่างให้เป็นไปได้อย่างที่เราต้องการในเพียงชั่วข้ามคืน แต่ “สังคมอุดมคติ” (Ideal Societies) ก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จักโลกรอบตัวเราดีขึ้น โดยเฉพาะในแง่ความเป็นไปได้ (possibilities)
ยิ่งเรารู้จักความเป็นไปได้ของสิ่งต่าง ๆ มากเพียงใด ก็ย่อมเป็นการง่ายสำหรับเราในการประเมิน (evaluate) จุดยืนของเรามากเพียงนั้น
การคิดคำนึงถึงสังคมอุดมคติ เป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาหนทางในการประเมินสังคมของเราเอง มีนักคิดมากมายที่พูดถึงสังคมอุดมคติ แต่ในบทนี้เราจะพูดถึงความคิดของนักคิดสองคน คือ B.F. Skinner และ Sir Thomas More
แม้แนวคิดของคนทั้งสองจะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่โดยพื้นฐานสังคมอุดมคติของทั้งคู่ล้วนสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับ ธรรมชาติมนุษย์ (human nature) และ ความสุขของมนุษย์ (human happiness) ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า สังคมอุดมคติ เป็นผลลัพธ์จากทฤษฎีธรรมชาติมนุษย์และความสุขของมนุษย์ของนักคิดคนนั้น ๆ นั่นเอง
ที่สำคัญ ก็คือ สังคมอุดมคติยังคงเป็น อุดมคติ อยู่เสมอไป เพราะเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้สมาชิกในสังคมนั้น ๆ ทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามที่นักคิดผู้สร้างสังคมนั้นวางโครงสร้างหรือออกแบบ (design) ตามสิ่งที่ตนคิดว่าประชาชนต้องการเพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้น
ท้ายที่สุด สังคมในจินตนาการใด ๆ ก็ตาม ล้วนแต่ท้าทายเราให้หันมาสนใจสังคมในปัจจุบันมากขึ้น เราควรต้องหันมาสนใจว่าสังคมของเราเหมือนหรือแตกต่างจากสังคมอุดมคติเพียงใด การศึกษาเรื่องสังคมอุดมคติ จึงเป็นการบอกถึงจุดยืนของเรา รวมถึงแนวทางในการประเมินสังคมของเราอีกด้วย
แม้ว่าบางคนจะมีแนวโน้มยอมรับโดยไม่เคยตั้งคำถามว่า สังคมเราในปัจจุบัน “ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่ถึงกับแย่เกินไป” ทัศนะเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำในทุกสังคมอยู่เสมอ กล่าวคือ ผู้นำเหล่านั้นมักจะบอกแก่ประชาชนของตนว่า พวกเขาโชคดีเพียงใดที่ได้อาศัยอยู่ในสังคมเช่นนั้น
แต่แนวคิดเรื่องสังคมอุดมคติ ดูเหมือนจะเป็น “ก้าง” ชิ้นไม่โตนักที่คอยทิ่มตำความคิดที่ยอมเชื่อโดยไม่คิดไตร่ตรองให้รอบคอบ (unthinking acceptance) ความพึงพอใจ(หรือยอมจำนน)ต่อสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ (complacency) และยังเป็นการตรวจสอบความคิดกระแสหลักในปัจจุบันด้วย
ในหนังสือเรื่อง Walden Two ของ B.F. Skinner ให้ภาพลักษณะทางสังคมและการเมืองที่เกี่ยวพันกับแนวคิดทางจิตวิทยาแบบสำนักพฤติกรรมนิยม(behaviorism)
Skinner เชื่อว่ามนุษย์มีความต้องการพื้นฐาน 5 ประการเพื่อสร้างความสุข-ความพึงพอใจ ได้แก่ สุขภาพพลานามัย การลดความเหนื่อยยากในการทำงาน โอกาสในการทำสิ่งที่ท้าทายความสามารถ การมีสัมพันธ์ที่ราบรื่นและใกล้ชิด นันทนาการและการพักผ่อน
ดังนั้น สังคมควรจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดดังกล่าว ทำให้ เสรีภาพ (freedom) เป็นทั้งสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่ต้องพูดถึงกันเลยด้วยซ้ำ ผู้คนในสังคมตามความคิดแบบ Skinner มีชีวิตที่เป็นผลผลิตของ “วิศวพฤติกรรม” (behavioral engineering)
สังคมแบบชุมชนที่มีความเสมอภาคกันนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงิน คนทุกคนมีหน้าที่ต้องทำงาน และได้รับสิ่งที่ตนต้องการเป็นเครื่องตอบแทน ดังนั้น Walden Two จึงไม่ใช่แนวคิดแบบประชาธิปไตยแต่เป็นการดำเนินงานโดยนักวางแผน (Planner) และผู้จัดการพิเศษ (specialized Manager) ที่ได้รับการแต่งตั้งแทนที่จะมาจากการเลือกตั้ง
เด็กที่เกิดขึ้นมาเป็นสมบัติของชุมชน จะได้รับการอบรมสั่งสอนโดยชุมชนซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของหลักการจิตวิทยาแบบพฤติกรรมนิยม สมาชิกในชุมชนทุกคนต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ ของวอลเดน (the Walden Code)
ยูโทเปีย
ในขณะเดียวกัน เกาะยูโทเปีย (the island of Utopia) ซึ่งเป็นสังคมอุดมคติตามแนวคิดของ Sir Thomas More ก็เป็นชุมชนที่ไม่ต้องใช้เงินและไม่อนุญาตให้มีการสะสมทรัพย์สมบัติส่วนบุคคล ยกเว้นทรัพย์สินจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ทุกคนต้องทำมาค้าขายอย่างเต็มที่
รัฐบาลในยูโทเปีย ได้มาจากการเลือกตั้งจากบรรดาชนชั้นที่มีความรู้ การบริหารจัดการชุมชนเป็นโครงสร้างที่เข้มแข็งของครอบครัว พร้อมกับสนับสนุนการทำความดี ชาวยูโทเปียทุกคนล้วนมีสำนึกอย่างสูงเกี่ยวกับความพึงพอใจ หรือ ความสุขที่ “แท้จริง”
อย่างไรก็ตาม แนวคิดสำคัญที่เป็นพื้นฐานของ More คือ อกุศลแห่งความหยิ่งทะนง (sin of pride) ซึ่งเป็นความรู้สึกของความเหนือกว่า และความหยิ่งจองหองอันเนื่องมาจากความมั่งคั่งร่ำรวย (wealth) ความปรารถนาในชื่อเสียงเกียรติยศ (praise) จนทำให้คนอ้างความมีอำนาจเหนือคนอื่น ๆ
More เชื่อว่าความหยิ่งทะนงเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้เกิดความชั่วร้ายทางสังคม (social evil) ดังนั้นสถาบันต่าง ๆ ในสังคมยูโทเปียจึงได้รับการสร้างขึ้นเพื่อควบคุมความชั่วร้าย (vice) เหล่านั้น
อุดมคติของคุณเป็นอย่างไร
เราได้ทราบมาแล้วว่า สังคมอุดมคติ มักจะวางอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจเรื่องธรรมชาติมนุษย์และความสุขของมนุษย์ ดังที่ Skinner คิดว่า ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นมาก แต่เขาก็ไม่คิดว่าเสรีภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ ดังนั้นเขาจึงสร้างให้ประชาชนและสังคมของเขาทำแต่สิ่งที่ดี เมื่อเราจะพิจารณาสังคมอุดมคติของเราเองบ้าง สิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจก็คือสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่ Skinner และ More เข้าใจ นั่นก็คือ สังคมที่ดีมีลักษณะอย่างไรบ้าง?
คำตอบที่ได้จะช่วยให้เราวางโครงร่างความเข้าใจที่ดีขึ้นสำหรับทิศทางที่สังคมมนุษย์ควรจะเป็น รวมถึงสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ที่เราเป็นสมาชิก ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย บริษัท หรือแม้แต่ประเทศชาติ บางคนอาจสรุปว่า ตลอดเวลานักคิดต่าง ๆ อย่างน้อยก็ Skinner และ More ต่างก็เป็นคนช่างฝัน (dreamer) ถึงความเป็นไปได้ที่อยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง
มนุษย์อาจถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเอารัดเอาเปรียบ หาประโยชน์ใส่ตัว เล่นพรรคเล่นพวก และก้าวร้าว ขณะเดียวกันกฎหมาย วัฒนธรรมและอารยธรรม ก็ดูเหมือนจะเป็นแผ่นกระดาษบาง ๆ ที่ปกคลุมธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์เอาไว้เท่านั้น แม้ว่าความหวังของ นักคิดต่อสังคมอุดมคติที่มองความเป็นไปของธรรมชาติมนุษย์จะยังไม่เคยประสบ ความสำเร็จก็ตาม และแม้ว่าจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีจะทำให้นักคิดตะวันตกส่วนใหญ่กล่าวว่าเรา อาศัยอยู่ในสังคมที่ “ก้าวหน้า” ในขณะที่เราเคยอยู่สังคมที่เราเรียกกันว่า “ล้าหลัง” มานานแล้วก็ตาม สิ่งที่เราต้องการก็คือ ความอดทน ความหวัง จินตนาการและแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่นแปลง รวมถึงความเชื่อที่ว่าเผ่าพันธุ์ของเราจะนำความฝันต่อสังคมอุดมคติให้เป็น จริงขึ้นมาได้
บางทีเราแค่อาจจะต้องการเวลามากขึ้นกว่าเดิมและต้องการความอ่อนน้อมถ่อมตน (humility) มากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ More เรียกว่า ความหยิ่งทะนง (pride) ซึ่งจะช่วยใหเรายอมรับว่า เราคือใครและเราคืออะไร อันเป็นจุดยืนของเราในประวัติความเป็นมาของมนุษยชาติ และกระตุ้นเราให้ทำ(ในสิ่งที่ไม่ว่าจะสำคัญมากน้อยเพียงใดก็ตาม) เพื่อช่วยให้เผ่าพันธุ์ของเราก้าวหน้าขึ้น