บทที่ 1 ความหมาย และวัตถุประสงค์ ของการศึกษาปรัชญา

บทที่ 2 เครื่องมือของ ปรัชญาและ เหตุผล

บทที่ 3 มนุษยภาวะ

บทที่ 4 การตัดสินถูกและผิด

บทที่ 5 ความหมายและ ความจำเป็นของคุณธรรม

บทที่ 6 สังคมอุดมคติ

บทที่ 7
ความรู้ของมนุษย์

บทที่ 8
ปัญหาเรื่องความจริง และสิ่งที่เป็นจริง

บทที่ 9 เพศกับความคิด

บทที่ 10 มาร์กซ์ กับ พระพุทธเจ้า

หมายเหตุ
ไม่ทราบว่าเป็นงานค้นคว้าและวิจัยของผู้ใด หรือสถาบันใด ไม่ทราบแหล่งที่มา และผู้เขียนงานชิ้นนี้ พบโดยบังเอิญ อ่านแล้วเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ แก่ผู้ที่สนใจทางด้านปรัชญา จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ เป็นวิทยาทาน โดยตั้งหัวข้อเรื่องเองตามความเข้าใจ

บทที่ 8 :: ปัญหาเรื่องความจริงและสิ่งที่เป็นจริง (truth and realtiy)

ทัศนะเกี่ยวกับความจริงและสิ่งที่เป็นจริง
ความจริง (truth) หรือ “สัจจะ” มีลักษณะเป็นนามธรรม เมื่อเราพูดถึงความจริงของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรามักหมายถึง หลักการที่มีอยู่แน่นอนมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น เช่น “ชีวิตเป็นทุกข์” “สังขารเป็นของไม่เที่ยง” “ไม่มีอะไรเกิดจากความว่างเปล่า” ล้วนแต่เป็นการบอก “ความจริง” ทั้งสิ้น

ความจริงเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความรู้ เพราะเมื่อเราบอกว่าเรามีความรู้ ก็คือเรารู้ความจริงหรือเข้าถึงความจริงของสิ่งที่เป็นจริง (แต่อย่าลืมว่า ความจริงก็มีหลายระดับ) ดังนั้น การจะเข้าใจว่า สิ่งที่เป็นจริง หรือ reality คืออะไร และการเข้าถึงสิ่งที่เป็นจริงหรือสิ่งที่มีอยู่จริงนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่มีอยู่ (being) ในจักรวาลมีอยู่ 2 สภาวะ คือ

1. สภาวะที่ปรากฏ (appearance) หรือ มายาภาพ คือ สิ่งที่มนุษย์รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5
2. สภาวะความเป็นจริง (reality) หรือ สัจจะภาวะ คือ สิ่งที่เป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังสภาวะที่ปรากฏโดยไม่บิดเบือนหรือผันแปรไปตามการรับรู้ของบุคคล

ดังนั้น การรู้ “ความจริง” ก็คือ การรู้ที่ตรงกับสภาวะความเป็นจริง ไม่ใช่รู้เพียงสภาวะที่ปรากฏ การรู้ความจริงของสภาวะความเป็นจริงเท่านั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็น “ความรู้” (ในขณะที่การรู้สภาวะที่ปรากฏ เป็นเพียงการเห็น หรือข้อมูล)

ทัศนะแบบจิตนิยม (idealism)
เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นความจริงเนื้อแท้นั้น มิได้มีเพียง สสารหรือวัตถุเท่านั้น หากแต่ยังมี อสสาร (immaterial) อีกด้วย กล่าวคือ อสสาร เป็นสิ่งไม่กินที่ ไม่กินเวลา อยู่พ้นโลกวัตถุออกไป มีอยู่ด้วยตนเอง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ถูกจำกัดด้วยกาละ (time) และเทศะ (space) เป็นหลักการสำคัญที่ทำให้โลก มนุษย์และสรรพสิ่งมีระบบ ระเบียบ มีกฎเกณฑ์ มีความสม่ำเสมอ

นอกจากนี้สิ่งเหนือธรรมชาติเหนือประสาทสัมผัส (unseen world) ก็จัดเป็น อสสาร ตามกรอบแนวคิดแบบจิตนิยมด้วย ในขณะที่ ค่านิยม (values) เช่น ความดี ความงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม ที่ปรากฏอยู่ในโลก นักจิตนิยมก็เห็นว่ามีต้นกำเนิดอยู่ที่ อสสาร นั่นเอง

ดังนั้น ทัศนะแบบจิตนิยมจึงท่าทีต่อค่านิยม เช่น ความดี ว่ามีคุณค่าในตัวเอง แม้ไม่มีใครรู้เห็น คุณค่าเหล่านั้นก็ไม่ได้สูญหายไป ขณะเดียวกันก็มีท่าทีต่อการแสวงหาความสุขทางกาย ว่าเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์

นักคิดในลัทธิจิตนิยมเห็นว่าโลก มนุษย์และสรรพสิ่งล้วนแต่ไม่สมบูรณ์ ไม่เที่ยง มีการผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามกาละ เทศะ แต่ก็ยังมีอีกโลกหนึ่งที่จริง สมบูรณ์ คงอยู่นิรันดร์ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ดังเช่น “แบบ” และ “ทฤษฎีแบบ” ของพลาโต (Plato)

ทฤษฎีแบบของพลาโต (Theory of Ideas)

พลาโตเห็นว่า ยังมีอีกโลกหนึ่งที่เรียกว่า โลกแห่งแบบ (World of Ideas) ที่สมบูรณ์ ดีงาม จริงแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญสลาย ไม่ถูกทำลาย ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง และเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในโลกมนุษย์ แต่แบบและโลกแห่งแบบนั้น ไม่อาจสัมผัสหรือรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เพราะเป็น “อสสาร”

“แบบ” เป็นความจริงสูงสุดในทัศนะของพลาโต ซึ่งแบบจะอยู่แยกออกไปจากโลกมนุษย์ คือ อยู่ใน โลกแห่งแบบ นั่นเอง

พลาโตเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีแบบ ซึ่งก็คือลักษณะร่วมทั้งทางคุณภาพและโครงสร้างของสิ่งหนึ่ง ๆ แบบทำให้เรามีความเข้าใจและคิดถึงสิ่งหนึ่ง ๆ ได้ตรงกัน เช่น “แมว” แม้ว่าจะมีหลากสีหลายพันธุ์ แต่สิ่งที่ทำให้เราบอกว่าสิ่งมีชีวิตนั้นคือ “แมว” ก็คือสิ่งที่พลาโตเรียกว่า “แบบ” ของแมว จึงเห็นว่าแบบของแมวทำให้เราเข้าใจแมวตรงกัน

เราจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเราจะเปรียบเทียบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็มักจะใช้แบบของสิ่งนั้น ๆ เป็นมาตรฐานในการตัดสิน เช่น การเปรียบเทียบว่าเสื้อตัวใด “ขาว” กว่ากัน คนที่จะตัดสินได้ก็ต้องมี “แบบของความขาว” เป็นแบบมาตรฐานอยู่แล้ว

พลาโตยืนยันว่าแบบของแมว แบบของความขาว แบบของความกลม แบบของคน ฯลฯ ล้วนแต่มีอยู่อย่างแท้จริงในโลกของแบบ มนุษย์จะรู้จะเข้าใจได้ก็ต้องอาศัยเหตุผลและภูมิปัญญา หากใช้เพียงประสาทสัมผัส มนุษย์ก็จะรู้เพียงภาพสะท้อนหรือ “เงา” ของความเป็นจริงเท่านั้น กล่าวได้ว่า พลาโตเสนอปรัชญาของเขาว่า “สรรพสิ่งในโลกมนุษย์เป็นเพียงภาพจำลองของแบบ หรือภาพสะท้อนของแบบ” แม้ว่าสิ่งเฉพาะในโลกจะสูญหาย/เปลี่ยนแปลงไป แต่แบบซึ่งเป็นสิ่งสากลยังคงดำรงอยู่ตลอดไป

ทัศนะแบบวัตถุนิยม (materialism)
ความจริงที่นักวัตถุนิยมเสนอก็คือ สสารและปรากฏการณ์ของสสารเท่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง สิ่งใดไม่สามารถสัมผัส แตะต้อง มองเห็นได้ สิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง ลักษณะสำคัญ ๆ ของแนวคิดแบบจิตนิยม คือ

1. สิ่งที่เป็นจริงจะต้องสามารถค้นหาและตรวจสอบได้ด้วยวิธี ปรนัย หรือ ภววิสัย หรือ วัตถุวิสัย (objective) คือ มีความแน่นอนตายตัว ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ค้นหา (แนวคิดนี้สอดคล้องกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์)
2. เป็นแบบนิยัตินิยม (determinism) คือ เชื่อว่าทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างมีสาเหตุ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
3. ปฏิเสธความจริงในสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ยอมรับว่า อสสารมีอยู่จริง
4. ยอมรับการทอนลง (reductionistic) เชื่อว่าทุกสิ่งสามารถทอนหรือย่อยลงจนเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดได้ การเข้าใจส่วนย่อยจะทำให้เข้าใจส่วนใหญ่ได้ สรรพสิ่งแตกต่างกันเพียงปริมาณหรือความซับซ้อนของธาตุพื้นฐาน แต่คุณภาพไม่ต่างกัน
5. เห็นว่าค่านิยมต่าง ๆ เป็นสิ่งสมมติ ความดี ความงาม ไม่มีอยู่จริง

อาจกล่าวได้ว่าความจริง ในทัศนะของนักวัตถุนิยมคือ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ ไม่มีอะไรหายไป มีแต่การเปลี่ยนแปลงจำนวนและถิ่นที่อยู่ของวัตถุหรือสสารเท่านั้น

ทฤษฎีปรมาณู (อะตอม) : atomic theory

เดมอคริตุส (Democritus) เสนอว่า สรรพสิ่งในโลกสามารถทอนลงไปทีละครึ่ง ๆ จนถึงสิ่งที่เล็กที่สุดซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกต่อไปได้ สิ่งนั้นถือเป็นความจริงสูงสุด มีลักษณะเป็นวัตถุหรือสสาร ที่เรียกว่า ปรมาณู หรือ “อะตอม” (atom) อะตอมเป็นมวลที่มีความอิ่มตัวเต็มที่ ไม่สามารถสร้างหรือทำลายลงได้ มีพลังขับเคลื่อนในตัวเองซึ่งขึ้นอยู่กับกฎของจักรกลอันเป็นธรรมชาติในตัวอะตอมเอง ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นไปตามกฎจักรกล (mechanical law) ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยไร้เหตุผล สรรพสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยและความจำเป็น เนื่องจากโลกและสรรพสิ่งเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย ไม่มีเจตจำนงเสรี แต่เป็นไปตามแรงผลักดันจากกฎของสสารและการเคลื่อนที่ ทำให้เราไม่สามารถตั้งคำถามได้ว่าโลกเกิดมาเพื่ออะไร จุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษยคืออะไร เป็นต้น

แต่เราก็ไม่อาจเรียก เดมอคริตุส ว่าเป็นนักวัตถุนิยมได้อย่างสมบูรณ์นัก เพราะแม้อะตอมจะเป็นสสาร แต่วิธีการเข้าถึงความจริงนั้นไม่สามารถกระทำได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่ทำได้ด้วยการใช้ชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติซึ่งเป็นกฎเหตุผล การใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับเหตุผลจะทำให้เรารู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นเป็นความสุขภายในที่ไม่อิงอาศัยวัตถุภายนอกใด ๆ

ทฤษฎีอะตอมไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะประชาชนสมัยกรีกให้ความสนใจปัญหาเรื่องการมีชีวิตที่ดีและการดำรงอยู่ ในสังคมตามแนวคิดของปรัชญาอย่างโสคราติส เพลโตและอริสโตเติล มากกว่า รวมทั้งตลอดสมัยกลางของยุโรป ปรัชญาก็วนเวียนอยู่ที่เรื่องของพระเจ้าและประสบการณ์ทางศาสนาที่อาศัยความ ศรัทธาและการค้นพบทางจิตวิญญาณตามแนวของศาสนาคริสต์เป็นหลัก กล่าวได้ว่าสมัยกลางก็ไม่ได้สนใจปรัชญาวัตถุนิยมเท่าที่ควรเช่นกัน

จนกระทั่ง ศตวรรษที่ 16 - 17 เกิดในปฏิวัติในวิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ โดยเฉพาะการค้นพบว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของเอกภพ การค้นพบดังกล่าวเป็นการลดความสำคัญของมนุษย์ในแนวคิดของศาสนาคริสต์อย่างมาก นอกจากนี้การค้นพบทางวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ครั้งทำให้ผู้คนเห็นคล้อยตามว่าธรรมชาติก็คือระบบจักรวาล สรรพสิ่งสามารถแยกออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ แล้วศึกษาหาความจริงจากคุณสมบัติย่อย ๆ เหล่านั้น

นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคือ เรอเน เดส์การ์ตส์ (Rene Descartes) พยายามแบ่งอาณาจักรสองอาณาจักร คือ จิตใจ(ซึ่งเป็นตัวคิด) กับ วัตถุ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกคิด) เป็นสองสิ่งที่เป็นอิสระแยกขาดจากกัน

เดส์การ์ตส์ เป็นผู้ทำให้มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม จิตกับกาย ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์กับเหตุผล เป็นสองสิ่งที่แยกจากกันอย่างชัดเจนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน นักปรัชญาชาวอังกฤษ คือ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) เห็นว่าวัตถุเท่านั้นที่เป็นสิ่งจริงขั้นสุดท้าย ทุกสิ่งทุกอย่างคือวัตถุ ภาวะของจิตก็คือภาวะของสมอง (Mental states were brain states) ปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณเป็นเพียงการแสดงออกของวัตถุ

โลกคือเครื่องจักร

เมื่อการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ รวมเข้ากับแนวคิดในสมัยภูมิธรรม ที่เชื่อในกระบวนการใช้เหตุผล ที่เมื่อผนวกกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้นำโลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (paradigm = การเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงแก่นในทางความคิดความเชื่อ ความรู้ การปฏิบัติ และการให้คุณค่าต่าง ๆ) ที่สามารถสรุปได้ดังนี้

1. เกิดความเชื่อว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเหตุผลเท่านั้นที่จะทำให้เรารู้ถึงความเป็นจริงหรือสิ่งที่มีอยู่จริงได้
2. มองจักรวาลว่าเป็นระบบกลไกที่แยกออกเป็นส่วนย่อย ๆ ได้ แต่ละส่วนเป็นวัตถุที่ไม่สามารถแยกย่อยได้อีก (ยอมรับแนวคิดแบบ ปรมาณูนิยม - atomism และจักรกลนิยม - mechanism)
3. มองชีวิตและสังคมว่า การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ผู้แข็งแรงคือผู้ชนะ ผู้ชนะจะเป็นผู้ได้ครอบครอง (the winner takes all)
4. เกิดความเชื่อและความศรัทธาในความก้าวหน้าทางวัตถุอย่างไม่สิ้นสุด และเชื่อมั่นว่าความสุขเกิดขึ้นได้เมื่อมีวัตถุเพียบพร้อม เศรษฐกิจและเทคโนโลยีจึงเป็นทั้งเครื่องมือและเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ในเวลาเดียวกัน
5. เกิดแนวคิดเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์เป็นนายธรรมชาติ และเป็นศูนย์กลางจักรวาล ทุกสิ่งในจักรวาลมิได้มีค่าในตัวเอง แต่ต้องดำรงอยู่เพื่อการพัฒนาของมนุษย์

ด้วยเหตุนี้โลกจึงถูกมองว่าเป็นเครื่องจักร ที่เกิดขึ้นและทำงานไปอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย แต่เป็นไปตามระบบและกลไกของเครื่องจักรที่ต้องดำเนินไปอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ความเป็นไปของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเกิดจากแรงผลักภายนอก หรือสาเหตุภายนอก ไม่ใช่เกิดจากเจตนาของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่ต้องการให้เกิดความเป็นไปต่าง ๆ นักปรัชญาจักรกลนิยมเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง “เป็น” อย่างที่มัน “ต้องเป็น” ตามจังหวะ ตามระบบจักรกล ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีความจงใจหรือมีเจตนาไม่มีการตัดสินใจอย่างเสรี แนวคิดจักรกลนิยมปฏิเสธเจตจำนงเสรี (free will) ซึ่งมีนัยสำคัญต่อเรื่องจริยธรรม เพราะความรับผิดชอบทางจริยธรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นเกิดจากการตัดสินใจเลือกอย่างเสรี หากเกิดข้อผิดพลาดเพราะมีเจตนาหรือไม่มีการเลือกด้วยตัวเองแล้ว ก็มักจะปฏิเสธความรับผิดชอบ แล้วโยนความรับผิดชอบนั้นไปให้ระบบหรือสาเหตุภายนอก เช่น สังคม เพื่อน พ่อแม่ ครูอาจารย์ รัฐบาล เศรษฐกิจ ดินฟ้าอากาศ ผีสางเทวดา หรือแม้แต่ IMF แต่สิ่งที่ไม่ต้องรับโทษและความผิดก็คือ ตัวเอง

ทัศนะแบบลัทธิองค์รวม (holism)
ภาวะองค์รวม หรือโลกทัศน์แบบองค์รวม (Holistic View of Universe) เป็นวิธีการมองความเป็นจริงแบบบูรณาการ มองที่ทั้งหมด (the whole) แยกออกจากกันไม่ได้ ปรากฏการณ์ทุกอย่างทุกด้านล้วนมีความเชื่อมโยงกัน เป็นเหตุ-ปัจจัยแก่กัน

ลัทธิเต๋า (Taoism)
“เต๋าที่สามารถนำมาเล่าขานได้นั้นยังไม่ใช่เต๋าซึ่งเป็นอมตะ สิ่งที่ยังมีการเรียกขานนามได้ยังไม่ใช่นามอมตะ นิรนาม นั้นเป็นรากฐานแห่งสวรรค์และดิน การเกิดมีนามขึ้น จึงเป็นมารดาของสิ่งทั้งหลาย ดังนั้น ขอให้มีแต่สิ่งที่ไม่มี (non-being) เถิด เพื่อเราจะได้เห็นความละเอียดของมัน ขอให้มีสิ่งที่มี (being) เพื่อเราจะได้เห็นผลของมัน ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งเดียวกัน…”

แนวคิดในคัมภีร์เต๋า-เต๋อ-จิง (Tao Te Ching) บอกความสำคัญของ เต๋า ว่าเป็นสิ่งอมตะ ไม่มีนามเรียกขาน(นิรนาม) เต๋าคือความว่าง(ว่างจากความเป็น) นาม(สมมติบัญญัติ) เป็นสิ่งปรุงแต่ง หาความจริงไม่ได้ เราไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรแบ่งแยกความแตกต่าง เพราะเต๋าคือเอกภาวะ หรือเอกภาพระหว่างสิ่งที่มีอยู่กับสิ่งที่ไม่มีอยู่ รวมกันเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋าจะปราศจากการแบ่งแยก ไม่เกิดสภาพที่เรียกว่า ทิวภาวะ (dualism)

เต๋าเชื่อในพลวัต (dynamic) ระหว่างภาวะสองอย่างที่ไม่เหมือนกัน คือ หยิน (Yin) กับ หยาง (Yang) ที่รวมตัวกันทำให้เกิดเอกภาพ แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกันแต่รวมตัวอยู่ในสิ่งเดียวกัน เมื่อมีการแบ่งแยก เต๋าจึงไม่มีคำว่ากำไร-ขาดทุน ไม่มีเกียรติหรือความอับอาย ไม่มีความสมหวัง-ผิดหวัง ขณะเดียว กันเต๋ายินดีในความธรรมดา และยึดหลัก “อกรรม” หรือ หวู่เว่ย (Wu-Wei) คือปล่อยให้ธรรมเป็นผู้ทำเอง เต๋าจึงพอใจที่จะอยู่กลมกลืนกับวิถีธรรมชาติมากกว่า

พุทธปรัชญา
คำสอนในศาสนาพุทธมีอยู่ว่า สรรพสิ่งประกอบด้วย รูปกับนาม จิตกับกาย และหลักการของ “อิทัปปจัยตา” หรือหลักที่ว่าทุกสิ่งเป็นไปเช่นนั้นเอง เป็นธรรมดาของโลก ขณะที่โลกเคลื่อนที่ไปด้วยเหตุผลที่พอจะอธิบายได้ แต่ก็เกินกว่าความสามารถทางเหตุผลที่จะอธิบายได้ “ผู้รู้ย่อมเข้าใจและปล่อยวาง”

ควอนตัมฟิสิกส์ (quantum physics)
นักฟิสิกส์พบสัจธรรมว่า “ควาร์ก” (quark) ซึ่งเป็นสารก่อนอนุภาคนั้น มีภาวะสลับไปมาระหว่างมวลสารที่หาตัวตนได้ กับภาวะที่ไม่มีมวลจึงทำให้หาตัวตนไม่พบ เปลี่ยนแปลงระหว่างความมีกับความไม่มี จนทำให้เกิดเป็นทฤษฎีไร้ระบบ (Chaos) หรือความไม่แน่นอนของสรรพสิ่งในจักรวาล

ทฤษฎีไร้ระเบียบ ยอมรับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Butterfly Effect คือ สิ่งเล็ก ๆ ที่ดูไร้ความหมาย สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้ หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจุดที่ห่างไกล ที่ดูเผิน ๆ แล้วเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน

แนวคิดแบบองค์รวมจะไม่สามารถมองและเข้าใจได้ว่า สิ่งแวดล้อมทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตแยกออกจากมนุษย์ และไม่คิดว่ามนุษย์แต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่ละเผ่าพันธุ์ แต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ หรือแต่ละเชื้อชาติ แยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

โลกในทัศนะแบบองค์รวมจึงเป็นความสัมพันธ์และการผสานเข้าด้วยกันของสรรพสิ่ง ระบบต่าง ๆ คือองค์รวมที่ผสานเป็นหนึ่งเดียว การมองโลกต้องมองทั้งหมด เพราะความเป็นจริงทั้งหมดของสิ่งใด ย่อมมีคุณสมบัติพิเศษสำคัญเฉพาะตน ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้หากจะแยกออกเป็นหน่วยย่อยแล้วศึกษา กล่าวได้ว่ากระบวนทัศน์แบบนี้เป็นวัฒนธรรมอุดมคติ ก่อให้เกิดความสมดุล ความประสานสอดคล้องกันในทางศิลปะ ปรัชญา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กระบวนทัศน์แบบองค์รวม พบได้ในปรัชญามนุษยนิยมใหม่ (Neo-Humanism) นิเวศเชิงลึก (deep ecology) ที่มีลักษณะสอดคล้องกับปรัชญาพุทธศาสนา ปรัชญาฮินดู ปรัชญาเต๋า และที่รู้จักกันมากในปัจจุบันก็คือ วิถีชีวิตแบบธรรมชาติบำบัด แต่น้อยคนนักจะเข้าใจว่าเนื้อหาจริง ๆ ของแนวคิดและวิถีชีวิตดังกล่าวคืออะไร ส่วนมากมักจะติดอยู่ที่รูปแบบ (การดื่มน้ำ RC ปฏิเสธอาหารขยะ การออกกำลังกายด้วยวัสดุอุปกรณ์และท่าทางต่าง ๆ การดื่มน้ำผัก-ผลไม้ เท่านั้น)

ในแง่อภิปรัชญา “ชีวจิต” เชื่อว่ามนุษย์มีกาย-ใจ(จิตวิญญาณ) เป็นหนึ่งเดียวกัน การดำรงอยู่จึงต้องทำให้กาย-ใจพัฒนาไปพร้อมกัน ฝึกคิดในแง่บวก มองโลกในแง่ดี และการฝึกจิต เช่น การทำสมาธิ ฝึกโยคะ ซึ่งถือเป็นการให้อาหารใจ ซึ่งมีความสำคัญพอ ๆ กับการให้อาหารกาย

ทัศนะแบบปฏิบัตินิยม (pragmatism)
เป็นปรัชญาร่วมสมัยของอเมริกา ผู้นำคนสำคัญของทัศนะแบบนี้คือ วิลเลียม เจมส์ (William James) ซี.ดี. เพิร์ซ (C.D. Peirce) และ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) แนวคิดแบบนี้มักจะไม่ได้รับการกล่าวถึงบ่อยนัก แต่ก็เป็นการมองความจริงและสิ่งที่มีอยู่จริงในอีกแง่มุมหนึ่ง แนวคิดนี้เห็นว่าไม่มีสิ่งจริงแท้สูงสุดที่เป็นสากล หากแต่สิ่งจริงแท้มีอยู่มากมาย (Pluralistic) และเราสามารถยืนยันความจริงได้จากการปฏิบัติ ฉะนั้นความรู้ในสิ่งใดจึงต้องเป็นความรู้ที่ปฏิบัติได้และให้ผลดี ทัศนะแบบ “ความรู้เพื่อความรู้” อาจใช้ไม่ได้กับนักปรัชญาแนวปฏิบัตินิยม เพราะเขาไม่สนใจแสวงหาความจริง ทางอภิปรัชญาเพียงเพื่อให้รู้และเข้าใจเท่านั้น หากแต่จะสนใจในสิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบันที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญ สิ่งนั้นต้องสามารถนำไปสู่ผลทางการปฏิบัติได้ นักคิดกลุ่มนี้ไม่สนใจที่จะถกเถียง โต้แย้งเพียงเพื่อให้รู้ว่าความจริงสูงสุดเป็นจิตหรือวัตถุ เพราะการรู้เหล่านั้นไม่มีอะไรใหม่และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

วิลเลียม เจมส์ ให้คำนิยามคำว่า ปฏิบัตินิยม ว่า “คือ ทัศนคติที่ไม่แยแสต่อสิ่งที่เป็นปฐม สิ่งที่เป็นหลักการ ประเภท หรือความจำเป็นที่คาดหมายกัน หากแต่ให้ความสนใจในสิ่งสุดท้าย ผล สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและข้อเท็จจริง” ลัทธินี้เป็นปฏิกริยา (reaction) ต่อระบบปรัชญาเก่า 2 ระบบ คือ วัตถุนิยม และ จิตนิยม ที่มัวแต่ถกเถียงเรื่องสิ่งสากล สิ่งสมบูรณ์ ที่ไร้ความหมาย เพราะเห็นว่าแม้ถกเถียงกันไปก็ได้เพียงข้อมูลที่ไม่มีความหมายอะไร หากไม่สามารถนำไปสู่ผลทางการปฏิบัติได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิผล

กล่าวได้ว่า ปรัชญาปฏิบัตินิยม เป็นปรัชญาของคนเดินถนน เพราะเกิดขึ้นจากการตระหนักในปัญหาสังคมและปัญหาจริยธรรม เกี่ยวข้องกับความพยายามจะแก้ปัญหาของมนุษย์ในสังคม ไม่ใช่ปรัชญาแห่งท้องฟ้าและดวงดาว ไม่ใช่ปรัชญาที่จะตอบสนองความต้องการทางปัญญาอันบริสุทธิ์ ดังที่ จอห์น ดิวอี้ กล่าวว่า “ปรัชญาหรือแนวคิดใด ๆ จะมีค่าก็ต่อเมื่อสามารถช่วยผู้คนแก้ปัญหาสังคมและจริยธรรมของเขาได้”

ปัญหาปรัชญาจึงมิได้อยู่ที่ว่า “ความจริงคืออะไร สิ่งใดคือสิ่งที่เป็นจริงสูงสุด เราจะรู้จักโลกที่เป็นจริงได้อย่างไร” แต่ปัญหาของนักปรัชญาปฏิบัตินิยมคือ “เราจะเรียนรู้วิธีที่จะควบคุมและสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาใหม่และใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร?” มากกว่า


Positive Thinking Quotes and Saying