บทที่ 1 :: ความหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษาปรัชญา มีคำกล่าวของนักวิพากษ์วิจารณ์คนหนึ่งกล่าวว่า Philosophy bakes no bread. (ปรัชญากินไม่ได้) คำตอบของวิชาปรัชญาต่อคำกล่าวนั้นมีอยู่ว่า ที่มนุษย์กินอยู่ทุกวันนี้ ควรถามตนเองด้วยว่า “กิน” ไปเพื่ออะไร ถ้าตอบว่ากินเพื่อความอยู่รอด ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า “จะอยู่ไปเพื่ออะไร” คำถามข้างต้นสะท้อนวิถีแห่งปรัชญา เพราะเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ ตลอดจนความเข้าใจว่าชีวิตเป็นอย่างไร และชีวิตที่ดีคืออะไรด้วย แม้ปรัชญาจะ “กิน” ไม่ได้ แต่ปรัชญาช่วยให้มนุษย์ได้ตริตรองถึง ชีวิตของตนเองและผู้อื่น เพื่อให้เข้าใจว่า จะกินไปเพื่ออะไร และ อาจส่งผลต่อแนวทางการดำรงชีวิต ซึ่งหมายถึงจะ “กิน” อย่างไรด้วย ความหมายของปรัชญา ปรัชญา คือ กิจกรรมทางปัญญาหรือการสร้างระบบความคิด เพื่อการแสวงหาคำอธิบายให้กับคำถามที่เป็นพื้นฐานที่สุดของชีวิต เช่น จุดประสงค์ของชีวิตคืออะไร พระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่ เราจะแยก “ถูก” กับ “ผิด” ออกจากกันได้อย่างไร สิ่งที่เรากระทำเป็นไปโดยอิสระของตัวเอง หรือเป็นเพราะโชคชะตาลิขิต เป็นต้น คำถามทางปรัชญา (philosophical questions) คำถามทางปรัชญาต่างจากคำถามทางวิทยาศาสตร์หรือ คำถามที่ต้องการคำตอบที่แน่ชัดและสามารถหาคำตอบได้ด้วยวิธีการ เชิงประจักษ์หรือการเลือกแหล่งอ้างอิงที่เหมาะสม กล่าวได้ว่า คำถามทางปรัชญาเป็นคำถามที่เจาะลึกลงไปหาแนวความคิดพื้นฐาน หรือ “หลักการ” ดังนั้น ความท้าทายของการหาคำตอบทางปรัชญาคือการนำเอาหลักการ และแนวคิดพื้นฐานนั้นไปอธิบายสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดนั้น ๆ (เช่น ความจริง ถูก-ผิด ยุติธรรม ฯลฯ) ขอบเขตของปรัชญา ความเป็นจริง (Reality) เช่น ความเป็นจริงคืออะไร ความแตกต่างระหว่าง “ความเป็นจริง” “ความไม่จริง” หรือ “สิ่งลวง” คืออะไร สิ่งที่เราพบเห็นเป็นจริงหรือไม่ หรือเพียงใจเราคิดว่าจริงก็เพียงพอแล้ว เป็นต้น ความเป็นมนุษย์ (Personhood) เช่น ธรรมชาติ หรือ ปัจจัยพื้นฐานใดที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากวัตถุ และสิ่งมีชีวิตอื่น รวมถึงความแตกต่างของมนุษย์แต่ละคน ลักษณะพื้นฐาน (basic characteristic) ของมนุษย์คืออะไร เป็นต้น เจตจำนงเสรี (Free Will) เช่น มนุษย์สามารถควบคุมการกระทำของตนเองได้ ดังนั้น การกระทำจึงไม่ใช่เพียงผลผลิตของสัญชาตญาณเท่านั้น หรือไม่ การกระทำของมนุษย์ก็ยังเป็นผลมาจากการอบรมเลี้ยงดู ค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคม หรืออาจจะเป็นเพราะลักษณะนิสัยที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็ได้ ด้วยหรือไม่ ความกลัวโดยไร้เหตุผล ส่งผลกระทบอย่างไร พลังของจิตไร้สำนึก (unconscious mind) คืออะไร พระเจ้ากำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ หรือไม่ มนุษย์มี “เสรี” เพียงใด เป็นต้น ความรู้ (Knowledge) เช่น ความรู้คืออะไร ความรู้มีที่มาอย่างไรบ้าง ความรู้เชิงประจักษ์(ประสบการณ์ตรง) ความรู้จากการอบรมสั่งสอน และความรู้ที่เป็นบทนิยาม (เช่น ความหมายของสามเหลี่ยม ที่ผลรวมของมุมภายในเท่ากับ 180 องศา) เป็นความรู้แบบเดียวกันหรือไม่ ความรู้ กับ ความรู้สึก หรือ ลางสังหรณ์ แตกต่างกันอย่างไร “ความรู้” ของคนทรงเจ้าเป็นความรู้เกี่ยวกับอนาคตจริงหรือไม่ เป็นต้น พระเจ้า (God) ชีวิตหลังความตาย (Life After Death) และเป้าหมายของชีวิต (the Purpose of Life) เช่น โลกและจักรวาลเป็นผลจากกระบวนการทางธรรมชาติ หรือเป็นผลงานการ “สร้าง” ของใคร พระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่ หากเราเชื่อว่ามีมิติแห่งวิญญาณอยู่จริง ก็แสดงว่าวิญญาณของเราจะไปอยู่ในที่นั้นหลังจากเราตายไป อย่างนั้นหรือ ชีวิตหลังความตาย และการเวียนว่ายตายเกิด มีจริงหรือไม่ เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่คืออะไร เป็นต้น ปรัชญาเชิงปฏิบัติ มาตรฐานการตัดสินการกระทำ (ถูก หรือ ผิด) เช่น เราใช้มาตรฐานหรือ ค่านิยมบางอย่างเป็นเครื่องนำทางในการเลือกทำบางสิ่งบางอย่าง และใช้เป็นเครื่องประเมินการกระทำของผู้อื่นด้วย มาตรฐาน หรือค่านิยมที่เห็นได้ชัดในทุกสังคมได้แก่ กฎหมาย และจารีตประเพณี รวมถึงระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวนโยบายต่าง ๆ แต่มีสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการดังกล่าวอยู่ เช่น การขับรถฝ่าไฟแดงเพื่อนำเพื่อนที่กำลังป่วยหนักไปโรงพยาบาล เป็นต้น แม้แต่เมื่อพิจารณาว่าเราต้องการมาตรฐานสากลสำหรับตัดสินการกระทำต่าง ๆ แต่เราจะสามารถหาได้หรือไม่ เราจะอธิบายมาตรฐานการตัดสิน ถูก-ผิด แก่คนที่ไม่เห็นด้วยกับเราได้อย่างไร หากเรามีมาตรฐานในการแยกแยะระหว่างถูก-ผิด เหตุใดเราจึงควรทำตามมาตรฐานนั้น และเหตุใดเราจึงควรทำสิ่งที่ถูก และเหตุใดเราจึงไม่ควรทำสิ่งที่ผิด เป็นต้น เมื่อเราพิจารณาชีวิตประจำวันของเราก็จะพบว่า มีคำถามมากมายเกี่ยวกับปัญหาการตัดสินการกระทำของ มนุษย์ที่มีต่อมาตรฐานหรือค่านิยมพื้นฐานบางประการ ซึ่งเป็น คำถามทางปรัชญา ซึ่งรวมไปถึงคำถามที่ว่า เราจะจัดการสังคมได้อย่างไร? คนจำนวนมากในสังคมต้องร่วมกันออกเสียงสำหรับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือว่าเราควรจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาดูแลเรื่องเหล่านั้น ใครควรเป็นผู้กำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์ที่คนอื่น ๆ ต้องปฏิบัติตาม จะทำอย่างไรหากระเบียบ กฎเกณฑ์ที่สังคมตั้งขึ้นขัดแย้งกับมาตรฐานส่วนบุคคลของคน บางคนหรือบางกลุ่ม เขาสามารถไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์เหล่านั้นได้หรือไม่ คุณมีวิธีการตรวจสอบความยุติธรรมของกฎหมายอย่างไร ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดี หรือไม่ เป็นต้น คุณค่าของการศึกษาปรัชญา - มีการวิเคราะห์ความหมายของภาษา
- อัตวิสัย (subjectivity) กับ วัตถุวิสัย (objectivity)
- เกณฑ์การตัดสินคุณค่าหรือการกระทำ
- การมีจิตใจชอบการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ (Critical mind)
- มีการตรวจสอบความเชื่อพื้นฐาน
- มีการคิดและความเชื่อที่เป็นระบบ
- มีการแสวงหาคุณค่าและจุดมุ่งหมายของชีวิต
- มีอิสระทางความคิด
ข้อสังเกตในการศึกษาปรัชญา 1. เนื้อหาของปรัชญาว่าด้วยสิ่งพื้นฐานที่สุดที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ 2. การพิจารณาข้อเขียนทางปรัชญา ประกอบด้วย - ส่วนของเนื้อหา หรือข้อเสนอต่อเรื่องนั้น ๆ - เหตุผลสนับสนุน (สำคัญมาก เพราะเป็นการอธิบายว่าเหตุใดนักปรัชญาคนนั้นจึงเสนอแนวคิดออกมาเช่นนั้น) 3. ความไม่สมบูรณ์ของแนวคิดทางปรัชญา - ไม่มีแนวคิดทางปรัชญาใด ๆ ที่สมบูรณ์ไร้ที่ติ - บางคนเสนอว่าเป็นเพราะธรรมชาติของปรัชญาเอง - แต่บางคนก็เสนอว่าเป็นเพราะยังมีความไม่รอบคอบของการเสนอแนวคิดดังกล่าวเท่านั้น 4. ชื่อและศัพท์ในทางปรัชญา - ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยการตีความรูปศัพท์ เช่น จิตนิยม วัตถุนิยม สสารนิยม สุขนิยม เหตุผลในมนัส ฯลฯ - ไม่ควรยึดถือว่าศัพท์ทางปรัชญามีความหมายตายตัวเสมอไป ที่สำคัญ ปรัชญาเป็นกิจกรรมที่เป็นการคิดเพื่อยกระดับจิตใจ เพื่อขึ้นสู่มิติของความรู้แท้ ดังนั้น ปรัชญาจึงแตกต่างจากวิชาการอื่น ๆ ที่เต็มไปด้วยทฤษฎีและสูตรต่าง ๆ แม้ว่านักปรัชญาจะเขียนหรือแสดงทัศนะของตนออกมาในรูปหนังสือ ตำรา หรือทฤษฎี แต่ก็ถือเป็นเพียงผลผลิตของความคิด หรือผลผลิตของปรัชญา มิใช่ตัวปรัชญา สิ่งที่เรียกว่าปรัชญาแท้ ๆ ก็คือ กิจกรรมการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง การศึกษาผลงาน ความคิด ทฤษฎีของนักปรัชญา จึงไม่ใช่เพื่อการจดจำชื่อและคารมความคิดของคนเหล่านั้นเท่านั้น เพราะจะเป็นการลอกเลียนความคิดของผู้อื่น ทำตามผู้อื่น แสดงถึงความไม่เป็นอิสระของตน การเป็นนักปรัชญาที่ดี ต้องตั้งข้อสงสัยในทัศนะของคนอื่น ด้วยเหตุผล ต้องคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ให้รอบคอบถี่ถ้วนก่อน และถ้าหากเห็นด้วย ก็จึงค่อยรับเอาความคิดนั้นมาเป็นเครื่องนำทางให้เราสามารถท่องเที่ยวไปในดินแดนของปรัชญาด้วยตัวเราเองต่อไป การอ่านและทำความเข้าใจงานทางปรัชญา พยายามเข้าใจว่านักปรัชญาคนนั้น กล่าวว่าอย่างไร โดยเฉพาะการอ่านงานที่เป็นต้นฉบับ (primary sources) ซึ่งอาจต้องใช้งานที่เป็นการอธิบายตำรา (textbook commentaries) ช่วยด้วย ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า งานเขียนเหล่านั้นเป็นผลจากสังคมที่แวดล้อมนักปรัชญาและความคิดของนักปรัชญาผู้นั้น ดังนั้นการอ่านงานทางปรัชญาจึงควรเข้าใจสภาพสังคมเชิงประวัติศาสตร์ที่ให้กำเนิดงานเหล่านั้นขึ้นมาด้วย และยังควรเข้าใจว่า เป้าหมายหลักของงานทางปรัชญา คือ การเสนอแนวคิดบางอย่างที่ “เป็นจริง” ในแง่ใดแง่หนึ่ง หลักการอ่านงานทางปรัชญาในที่นี้ก็คือ การตั้งคำถามว่าความคิดเหล่านั้นเป็นจริงอย่างที่กล่าวไว้หรือไม่ วิธีการเช่นนั้นจะทำให้ผู้อ่านได้ “โต้ตอบ” กับงานที่อ่าน เกิดเป็นบทสนทนาที่ไม่สิ้นสุด นักปรัชญาจะไม่สนใจเพียงหาคำตอบว่า พลาโตกล่าวอะไรไว้บ้าง หรือความคิดของพลาโตเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมอย่างไร แต่เขาต้องการรู้ว่าความคิดของพลาโตนั้นเป็นสิ่งที่ “ใช้การได้” (valid) หรือไม่ |