คัมภีร์อุปปาตะสันติ เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีของล้านนา ไทยจัดเข้าในหนังสือประเภทเชียงใหม่คันถะ มีอายุยาวนานถึง 600 ปี คาถาบทนี้แต่งโดยพระมหามังคละสีลวังสะ พระเถระนักปราชญ์เชียงใหม่ สมัยพระเจ้าสิริธรรมจักกวัตติโลกราชาธิราช (พระเจ้าติโลกราช) รัชกาลที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย ระหว่าง พ.ศ.1985-2030
มีคำเล่าว่า ในสมัยนั้น ที่เชียงใหม่มีโจรผู้ร้ายและอันธพาลชุกชุม ทั้งยังมีเหตุร้ายเกิดขึ้นทำลายความสงบสุขของบ้านเมืองอยู่เนืองๆ พระมหามังคละสีลวังสะ แต่งคาถาแล้ว นอกจากท่านสวดเองยังสอนให้พระสงฆ์ สามเณร และประชาชนช่วยกันสวดภาวนา...เหตุร้ายทั้งหลายทั้งปวง ก็ค่อยมลายคลายไป ความสงบสุขก็คืนมาสู่บ้านเมืองเป็นที่น่าอัศจรรย์ ต่อมา ชาวพม่าในเชียงใหม่ที่เลื่อมใส ก็นำคัมภีร์อุปปาตะสันติเข้าไปในพม่า จนกระทั่งคนไทยสมัยหลังไปเจอต้นฉบับในพม่า ก็นำกลับมาสวดกันในไทย...อีกครั้ง
เนื้อหาโดยพิสดาร กล่าวนามพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ทั้งที่มีมาในอดีต ในปัจจุบัน และจักมีมาในอนาคต รวมถึงท่านผู้ทรงคุณทางอำนาจ ทรงฤทธิ์ในทางที่ดี เช่น เทวดา อินทร์ พรหม ยักษ์ นาค คนธรรพ์ ครุฑ และอสูร ฯลฯ
เนื้อความโดยสรุป
- เป็นธรรมที่กระทำความสงบอันยิ่งใหญ่
- เป็นธรรมเครื่องสงบเหตุร้ายทั้งปวง
- เป็นธรรมเครื่องป้องกันอมนุษย์ และยักษ์
- เป็นธรรมเครื่องพ้นจากความตายก่อนกำหนดเวลา
- เป็นธรรมเครื่องย่ำยีกำลังของข้าศึก
- เป็นธรรมเครื่องจำเริญชัยชนะแด่พระราชา และ
- เป็นธรรมเครื่องนำสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาทั้งปวงออกไป