บทที่4 :: การตัดสินถูกและผิด

กรณีศึกษาที่ 1
อาจารย์ ก. กำหนดวัดสอบอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า แต่พออีกไม่กี่วันก่อนถึงวันที่กำหนด อาจารย์กลับบอกว่าขอเลื่อนสอบออกไปก่อน เพราะมีธุระ แต่พอนักศึกษาโวยวายขึ้นมา อาจารย์กลับตอบว่า “เอาล่ะ ผมไม่ได้สัญญาอย่างนั้นเสียหน่อย เป็นอันว่าการสอบจะยังมีอยู่ในวันอังคารหน้าเหมือนเดิม”

กรณีศึกษาที่ 2
คุณกับเพื่อนชื่อ ข. เดินเข้าไปในศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเพื่อซื้อหนังสือตามรายการวิชา ต่าง ๆ ที่ได้รับมา แต่พอกลับออกมาปรากฏว่า ข. แอบนำหนังสือกายวิภาคเล่มโต ราคากว่า 2,000 บาท ซุกมาใต้เสื้อคลุม พร้อมกับตอบเมื่อคุณแสดงความประหลาดใจออกไปว่า “ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ราคาสูงเหมือนกันนั่นแหล่ะ ค่าเล่าเรียน ค่าตำรับตำรา มีแต่แพง ๆ ทั้งนั้น ...ขอถามหน่อย ครั้งสุดท้ายที่นายจ่ายเงิน 2,000 บาทในร้านหนังสือทั่วไปเมื่อไหร่ ฉันเอาของออกมาจากศูนย์หนังสือด้วยเหตุผลอย่างนี้เสมอ”

กรณีศึกษาที่ 3
หญิง กับแฟนของเธอชื่อ ชาย ต่างก็เป็นนักศึกษาในหลักสูตรเตรียมแพทย์ พวกเขาฝันว่าจะได้เข้าเรียนในคณะแพทย์ แต่งงานแล้วก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตลอดไป ดังนั้น เพื่อให้คะแนนเฉลี่ยของเขาอยู่ในระดับสูง พวกเขาจึงร่วมกันลงมือโกงข้อสอบ จ้างคนอื่นทำการบ้าน ลอกงานของอีกฝ่ายหนึ่ง(รวมทั้งข้อสอบ)เมื่อมีวิชาต้องเรียนร่วมกัน นอกจากนี้ทั้งสองคนยังมักจะขโมยหนังสือห้องสมุด ด้วยหวังว่านักศึกษาที่จำเป็นต้องใช้หนังสือเหล่านั้นจะได้เกรดต่ำกว่าของพวกเขา

กรณีศึกษาที่ 4
ร. ทำงานร้านตัดเสื้อแล้วจึงไปเรียนหนังสือภาคค่ำ เขาแต่งงานและมีบุตรแล้ว 1 คน เขากับ ท. ซึ่งเป็นพนักงานขายอีกคนหนึ่งและเป็นโสด ต่างก็หวังจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้จัดการร้านซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในขณะที่ ร.เห็นว่าเขาจำเป็นเรื่องเงินมากกว่า ท. เขาจึงลงมือบอกเป็นนัย ๆ แก่เจ้าของร้านว่า ท. ขายยาบ้าให้นักเรียนมัธยมเป็นประจำ

กรณีศึกษาที่ 5
ที่สหรัฐอเมริก บ. เป็นนักศึกษาที่ขยันขันแข็ง เขาอยากเป็นสมาชิกของชมรมหนึ่ง เขาก็รู้อีกว่าสมาชิกชมรมส่วนหนึ่งมีความเป็นพี่เป็นน้องกัน(ความผูกพัน)อย่างใกล้ชิด ซึ่ง บ.เองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่ติดที่ว่าเขาเป็นคนผิวดำ และเขาก็หวังว่าจะเป็นคนที่มิใช่คนผิวขาวคนแรกขอชมรมดังกล่าว ต่อมาเมื่อเขาสมัครก็ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น มีเพียง จ. ซึ่งเป็นพี่รุ่นใหญ่เป็นคนที่มีแนวคิดแบบเชื้อชาตินิยม (racist) และไม่สามารถทำใจให้ยอมรับการสมัครเป็นสมาชิกของ บ. ได้
จ. จึงพยายามทำให้ บ. ถอนตัวจากสโมสรดังกล่าวให้ได้ เขาส่งบัตรสนเท่ห์ที่เต็มไปด้วยข้อความของพวกเชื้อชาตินิยม และการคุกคามต่าง ๆ เช่น จดหมายฉบับหนึ่งบอกว่าถ้า บ. ไม่ยอมถอนตัว จะเกิด “อุบัติเหตุ” จนขาหักที่เปิดภาคการศึกษาใหม่ แต่ บ. ก็ไม่สนใจต่อคำขู่ดังกล่าว จนกระทั่ง วันหนึ่ง เขาพบว่ามีคนมาเจาะยางรถยนต์ของเขาซึ่งเป็นเสมือน “คำเตือน” ในที่สุดเขาก็ยอมเปลี่ยนใจและถอนตัวในเวลาต่อมา

จากกรณีศึกษาทั้ง 5
ที่ผ่านมา เราจะเห็นการผิดคำสัญญา การลักขโมย การโกง การโกหก การคุกคามขมขู่ การเลือกที่รักมักที่ชัง และการใช้บางอย่างในทางที่ผิด ซึ่งคนส่วนมากมักจะโจมตีการกระทำดังกล่าว แต่ถ้าเป็นคุณเองที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำนั้นคุณจะตอบโต้อย่างไร แน่นอน คุณรู้สึกเจ็บปวดและโกรธแค้น บางครั้งคุณอาจจะบอกว่าคนอื่นทำในสิ่งที่ “ไม่ยุติธรรม” “อันตราย” “ผิด” “ไม่ใส่ใจ” “เลวทราม” “ทารุณโหดร้าย” ฯลฯ แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม คุณประเมินพฤติกรรมเหล่านั้นในทางลบอย่างแน่นอน

เราประเมินพฤติกรรมคนอื่น ๆ (รวมทั้งตัวเราเอง?) อยู่ตลอดเวลา การประเมินพฤติกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของปรัชญา เรียกว่า จริยศาสตร์ (ethics) หรือ ปรัชญาศีลธรรม (moral philosophy) จริยศาสตร์ ครอบคลุมถึงการสร้างมาตรฐานที่มีน้ำหนัก มีเหตุมีผลเพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่มนุษย์ “ยอมรับได้” และประยุกต์มาตรฐานเหล่านั้นสำหรับกรณีปลีกย่อยเป็นกรณี ๆ ไป

การตัดสินถูก – ผิดในทางปรัชญา
จากการที่เราเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับปรัชญามาบ้างแล้ว เรายังได้ทราบว่าการอ้างผู้มีคุณวิเศษ การอ้างอำนาจเข้าข่ม หรือแม้แต่การใช้อารมณ์ก็ทำให้การใช้เหตุผลผิดพลาดได้

ในทางปรัชญา การที่เราจะประเมินการกระทำของคนอื่น ๆ หรือแม้แต่การกระทำของเราเองนั้น ไม่อาจใช้มาตรฐานทางศาสนา กฎหมาย จารีตประเพณี หรือแม้แต่อารมณ์ความนึกคิดส่วนบุคคลมาเป็นเครื่องตัดสินได้

ความต้องการของมนุษย์ (Human Needs) และสวัสดิภาพของมนุษย์ (Human Well-being)
ในเมื่อจริยศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องของศาสนา กฎหมาย จารีตประเพณี หรือความนึกคิดส่วนบุคคล แล้วเราจะใช้สิ่งใดมาประเมินการกระทำของมนุษย์ได้หรือไม่?

นักปรัชญาใช้คำว่า “สวัสดิภาพ” (well-being) เพื่อประเมินการกระทำของมนุษย์มานานนับศตวรรษ กล่าวคือ การที่นักปรัชญาจะประเมินว่าการกระทำของคนหนึ่งดีกว่าการกระทำของคนอีกคนหนึ่ง ก็ด้วยการพิจารณาว่าการกระทำนั้นทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

มาตรฐานสูงสุดของนักปรัชญาในการประเมินการกระทำของมนุษย์คือ สวัสดิภาพของมนุษย์ หรือ ความสุข (ในที่นี้เราจะใช้คำว่าสวัสดิภาพแทน เนื่องจากเป็นคำที่ไม่มีส่วนแสดงอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง) อะไรคือ สวัสดิภาพ ความสุข หรือ การทำให้ “ดีขึ้น” คำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับแนวคิดดังกล่าวก็คือ “สำนึกพื้นฐานของความพึงพอใจในชีวิตของเรา”

สำนึกพื้นฐานของความพึงพอใจ (basic sense of satisfaction)
ลองพิจารณาดูว่าการกระทำบางอย่าง เช่น การโกงข้อสอบ ทำให้คุณรู้สึกมีสวัสดิภาพมากขึ้นหรือไม่? หากคุณโกงข้อสอบ แต่คุณกลับต้องรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อเพื่อนที่ตั้งใจเรียนและซื่อสัตย์ต่อตนเอง หากเพื่อนคนอื่นรู้เข้าเขาก็อาจเลิกเชื่อถือคุณไปก็ได้ บางทีพฤติกรรมการโกงอาจส่งผลระยะยาวถึงการทำงาน และการเข้าสังคมของคุณก็ได้

ความต้องการของมนุษย์
เราควรเข้าใจข้อสรุปที่ว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับชุดของความต้องการ (needs) ที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตที่ “ดี” ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเพื่อการยังชีพ (ที่อยู่อาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม) นอกจากนี้ยังมีความต้องการอื่น ๆ เช่น ความเป็นอิสระจากการกดขี่บีบบังคับ ความยุติธรรม ความเสมอภาค รวมถึงความเคารพต่อบุคคลอื่น ๆ ในที่นี้ขออย่าสับสนระหว่างความต้องการแบบ wants กับแบบ needs เพราะเรารู้อยู่ว่าเราต้องการทุกอย่าง แต่ของทุกอย่างที่เราต้องการอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป

อย่างไรก็ตาม ความต้องการของมนุษย์ดังกล่าวไปข้างต้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากความต้องการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีพไม่ได้รับการตอบสนอง เราก็ต้องตายไป และหากความต้องการด้านอารมณ์ไม่ได้รับการตอบสนองในวัยเยาว์ เราอาจต้องเผชิญกับความบกพร่องทางจิตไปตลอดชีวิตก็เป็นได้

เราต้องการอะไร?
แม้จะไม่มีรายการกำหนดไว้อย่างเป็นทางการ เราก็อาจพิจารณา ได้จากสิ่งที่สหประชาชาติระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งแม้จะว่าด้วยเรื่องของ “สิทธิ” แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความต้องการ เพราะเป็นการยืนยันว่าโดยพื้นฐาน มนุษย์มีสิทธิบางอย่างก็เนื่องมาจากเรามีความต้องการต่อสิ่งนั้น

แม้ว่าคำประกาศดังกล่าวจะมีเนื้อหามาก แต่เราก็อาจสรุปเรื่องของสิทธิและความต้องการได้ ดังต่อไปนี้

  1. ชีวิต
  2. อิสรภาพ
  3. ความเท่าเทียม
  4. ความปลอดภัยส่วนบุคคล
  5. การได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
  6. สิทธิทางการเมือง
  7. การพักผ่อน
  8. การเลือกสมรสและการมีครอบครัว
  9. การมีส่วนร่วมทางการเมือง วัฒนธรรม การศึกษา
  10. การป้องกันจากโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ

จริยศาสตร์สองแนว
มีมุมมองหลักอยู่ 2 แนวในการพิจารณาจริยศาสตร์ คือ การให้ความสำคัญกับผล (results-oriented approach – เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า teleological approach) ที่อ้างว่าลักษณะ

ทางจริยธรรมของการกระทำ ขึ้นอยู่กับว่าผลที่ตามมานั้น เป็นผลด้านบวก (positive)หรือ ผลด้านลบ (negative) สำนักคิดที่สำคัญมากซึ่งใช้แนวทางดังกล่าวพิจารณาด้านจริยศาสตร์ ได้แก่ สำนักประโยชน์นิยม (utilitarianism)

สำนักประโยชน์นิยม เริ่มต้นจากแนวความคิดของ เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) จากนั้นก็ปรับปรุงให้ซับซ้อนขึ้นโดย จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) สำนักคิดดังกล่าวนี้เสนอว่า ลักษณะทางจริยธรรมของการกระทำ ขึ้นอยู่กับเกิดความพึงพอใจ หรือความเจ็บปวดจากการกระทำนั้น มากน้อยเพียงใด

เบนแธม พยายามคำนวณค่าความพึงพอใจและความเจ็บปวดจากการกระทำต่าง ๆ ในขณะที่ มิลล์ เสนอว่าคุณภาพของความพึงพอใจควรจะสามารถจัดระดับจากล่างสุดไปจนถึงสูงสุดได้ด้วย นอกจากนี้เขายังเสนอให้พิจารณาผลลัพธ์ทั้งระยะสั้น และระยะยาวอีกด้วย

การวัดแบบ hedonistic calculus ของเบนแธม
1. ความเข้มข้น/ความรุนแรงของความรู้สึก
2. ช่วงเวลาของการเกิดความรู้สึกนั้นขึ้น
3. โอกาสที่ความรู้สึกนั้นจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น
4. ความรวดเร็วในการรับรู้ความรู้สึก
5. โอกาสที่ความรู้สึกนั้นจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
6. โอกาสที่จะทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความไม่สบายใจ
7. จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ

อีกมุมมองหนึ่ง ได้แก่ การความสำคัญกับการกระทำ (action-oriented approach - เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า deontological approach) ที่ให้ความสำคัญกับผลของการกระทำน้อยกว่าธรรมชาติของการกระทำนั้น ๆ เอง

การกระทำที่เคารพต่อความต้องการของมนุษย์จะเป็นการให้เกียรติ (dignity) ความซื่อสัตย์ (honesty) ความเสมอภาค (equity) และความเป็นธรรม (fairness) ซึ่งถือว่าเป็นความถูกต้อง ส่วนการกระทำที่ไม่เคารพต่อความต้องการของมนุษย์ได้แก่ การหลอกลวง (deceive) การครอบงำ (manipulate) ความลำเอียง (discriminate) ถือว่าเป็นความผิด

ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ หรือ ภาระ (duty) จึงเป็นแนวคิดที่สำคัญมากสำหรับนักคิดในแนวที่ให้ความสำคัญกับการกระทำ ผู้ให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวที่สำคัญที่สุดได้แก่ นักปรัชญาชาวเยอรมัน ชื่อ อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) เขาเสนอว่าเรามีภาระทางศีลธรรมที่จะต้องทำเพื่อคุณค่าภายใน (intrinsic worth) เช่น การรักษาคำมั่นสัญญา และการมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น เป็นต้น

ค้านท์เห็นว่าการกระทำทีดี คือ การกระทำที่เกิดจากเจตนาดี (good will) ซึ่งประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้

1. เป็นการกระทำที่เป็นอิสระจากความรู้สึกทั้งด้านลบและด้านบวก (ความดีไม่ควรขึ้นอยู่กับความรู้สึกหรือเงื่อนไขใด ๆ)
2. เป็นการกระทำตามหลักการ ตามหน้าที่ ตามเหตุผล โดยไม่คำนึงถึงหรือคาดหวังต่อผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าผลนั้นจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
3. เป็นการกระทำตามกฎศีลธรรม หรือกฎของคนในฐานะที่เป็นคน
3.1 การทำตามหลักที่เราจงใจให้เป็นหลักสากล ไม่ได้เป็นหลักที่ยกเว้น หรือให้อภิสิทธิ์เฉพาะตน (เราทำ เราก็ยอมรับได้ คนอื่นทำ เราก็ยอมรับได้
3.2 การกระทำที่มองเห็นคนอื่นเป็น “คน” เช่นเดียวกับเรา ไม่ใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการ แม้จะมีผลตอบแทนมากมายรออยู่ก็ตาม

ค้านท์ย้ำว่า ความสุขมิใช่สิ่งดีที่สุดของชีวิต คนดีไม่จำเป็นต้องสุขสบายหรือทำให้คนอื่นสุขสบายเสมอไป ความดีกับความสุขเป็นคนละสิ่งกัน ความดีมีค่าในตัวเองไม่จำเป็นต้องใช้ความสุขมาตัดสิน ทำดีย่อมดีในตัวเอง ทำชั่วย่อมชั่วทันที ไม่จำเป็นว่าทำดีย่อมต้องได้ดี ทำชั่วย่อมต้องได้ชั่ว เพราะการ “ได้” แสดงถึง “ผล” ของการกระทำนั้น ๆ สำหรับค้านท์ คนที่จะรู้ดีที่สุดเกี่ยวกับเจตนาของเรา ก็คือ ตัวเราเอง คนอื่นมีโอกาสรู้ค่อนข้างน้อย ส่วนมากมักเชื่อว่าเมื่อมีเจตนาดี วิธีการถูกต้อง ผลก็น่าจะออกมาดี

การประเมินหรือตัดสินความประพฤติของกันและกัน จึงมีโอกาสประเมินผิดสูง ทางที่ดีในทัศนะของค้านท์ คือ พยายามเพ่งเล็งผู้อื่นให้น้อย ไม่ต้องเสริมแรงในความดีหรือความชั่วของคนอื่น แต่หากเราถูกประเมิน ถ้าไม่ได้เป็นดังเขาว่า ก็ไม่ต้องไปสนใจอะไร เพราะไม่มีใครทำให้เราเป็นคนดีหรือคนเลวได้ นอกจากตัวเราเอง

Positive Thinking Quotes and Saying