บทที่ 1 ความหมาย และวัตถุประสงค์ ของการศึกษาปรัชญา

บทที่ 2 เครื่องมือของ ปรัชญาและ เหตุผล

บทที่ 3 มนุษยภาวะ

บทที่ 4 การตัดสินถูกและผิด

บทที่ 5 ความหมายและ ความจำเป็นของคุณธรรม

บทที่ 6 สังคมอุดมคติ

บทที่ 7
ความรู้ของมนุษย์

บทที่ 8
ปัญหาเรื่องความจริง และสิ่งที่เป็นจริง

บทที่ 9 เพศกับความคิด

บทที่ 10 มาร์กซ์ กับ พระพุทธเจ้า

หมายเหตุ
ไม่ทราบว่าเป็นงานค้นคว้าและวิจัยของผู้ใด หรือสถาบันใด ไม่ทราบแหล่งที่มา และผู้เขียนงานชิ้นนี้ พบโดยบังเอิญ อ่านแล้วเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ แก่ผู้ที่สนใจทางด้านปรัชญา จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ เป็นวิทยาทาน โดยตั้งหัวข้อเรื่องเองตามความเข้าใจ

บทที่ 7 :: ความรู้ของมนุษย์

แนวคิดเกี่ยวกับความรู้
ญาณวิทยา (epistemology) หมายถึง ศาสตร์หรือทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้แท้ หรือความรู้ที่มีระบบ ในทางปรัชญา ความรู้ต้องเป็นความรู้ในความจริง เพราะฉะนั้นปัญหาญาณวิทยา จึงไม่ใช่เพียงว่า ความรู้คืออะไร แต่ยังเกี่ยวพันกับความจริงด้วย เช่น อะไรคือสิ่งที่เรารู้ มนุษย์รู้ความจริงได้หรือไม่ โดยวิธีใด ความจริงเป็นสิ่งสัมพัทธ์ (Relative) หรือเป็นสิ่งสัมบูรณ์ (Absolute) เป็นต้น

โปรตากอรัส (Protagoras)
มนุษย์คือมาตรการสำหรับทุกสิ่ง (Man is the measure of all things.) : ความรู้และความจริงเป็นอัตวิสัย

โปรตากอรัสเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” นั้นเป็นเพียงความเห็นหรือทัศนะของแต่ละคน (subjective opinion) ความรู้ขึ้นอยู่กับผู้รู้แต่ละคน สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความจริงสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็จะเป็นจริงสำหรับคน ๆ นั้น ไม่มีความจริงปรนัย (objective truth) ที่ใช้และยอมรับได้สำหรับทุกคน ดังนั้น สำหรับโปรตากอรัส ความรู้ที่เป็นสากล แน่นอนตายตัวสำหรับทุกคนจึงไม่มีอยู่ แม้กระทั่ง “ความฝันก็อาจเป็นจริงได้สำหรับผู้ฝัน” กล่าวได้ว่า ความจริงในทัศนะของโปรตากอรัสเป็นสิ่งสัมพัทธ์ คือ เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ตายตัว ไม่จริงแท้แน่นอน

แนวคิดของโปรตากอรัส ยังเสนออีกว่า มนุษย์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแสวงหาความรู้ที่เป็นสากลเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน เขาไม่เชื่อว่ามนุษย์จะสามารถมีความรู้ในสิ่งเป็นจริงสูงสุด (Absolute Reality)

ในฐานะนักคิดในลัทธิประสบการณ์นิยม (empiricism) โปรตากอรัส เน้นประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส และเชื่อว่าประสาทสัมผัสเป็นสิ่งจริง (seeing is believing) การศึกษาไม่ใช่วิธีการเพื่อค้นหาว่าสิ่งใดจริงหรือเท็จ ครูอาจารย์ก็ไม่ใช่ผู้ที่จะบอกหรือแสดงความจริง เป็นเพียงผู้ชักชวนให้ผู้เรียน “ยอมรับ” คำพูดหรือความเชื่อของครูอาจารย์เท่านั้น ส่วนการตัดสินใจยอมรับเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

โสคราตีส (Socrates)

โสคราตีส เชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ คือ เป็นสากล เที่ยงแท้แน่นอน เป็นความรู้ในความจริง และมีความรู้ชนิดเดียวคือ ความรู้ชนิดที่ทำให้ผู้รู้รักความจริง เทิดทูนคุณธรรม สามารถคิดและทำได้อย่างถูกต้อง

โสคราตีสเชื่อว่า ผู้มีความรู้จะไม่เป็นคนเลวโดยเด็ดขาด ส่วนผู้ที่ยังทำผิด ก็เพราะเขาไม่มีความรู้ มีแต่เพียงความเห็น จึงอาจผิดพลาดได้เป็นธรรมดา ผู้มีความรู้ทุกคนสามารถเข้าถึงความจริงได้ตรงกัน เพราะความรู้หรือความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์อยู่แล้ว เรียกว่าเป็นความรู้ก่อนประสบการณ์ (Apriori Knowledge) ดังนั้นสิ่งที่ถูกรู้คือ ตัวเรา มิใช่โลกภายนอก คนเราต้องศึกษาตนเอง (Know Thyself) ให้เข้าใจแล้วจะพบความจริง

วิธีการที่โสคราตีสใช้ในการศึกษาตนเองก็คือ การคิดตรึกตรองในขณะจิตสงบ และอีกวิธีหนึ่งคือ การถาม-ตอบ หรือที่เรียกว่า วิธีการของโสคราตีส (Socratic Method) ประกอบด้วย

1. สงสัยลังเล (skeptical) โสคราตีสจะเริ่มต้นด้วยการยกย่องคนอื่น พร้อมกับขอร้องให้ช่วยอธิบายเรื่องที่ยังไม่กระจ่างให้ฟัง เช่น ความรัก ความงาม คุณธรรม ความยุติธรรม ความรู้ เป็นต้น

2. สนทนา (conversation) โสคราตีสจะเป็นผู้ตั้งคำถามให้คู่สนทนาเป็นผู้ตอบ เขาเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้คู่สนทนาเปิดเผยความจริงที่มีอยู่ในตัวเองออกมา โดยมีเขาเป็นเพียงผู้ช่วย ไม่ใช่ผู้นำความรู้ไปให้ เพราะความรู้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ขอเพียงนำออกมาให้ถูกวิธี

3. หาคำจำกัดความ (conceptional หรือ definitional ) โสคราตีส เชื่อว่าความจริงมาตรฐานจะแฝงอยู่ในคำจำกัดความ หรือคำนิยาม ที่สมบูรณ์ เช่น ความยุติธรรม หากเรายังไม่รู้ว่า ความยุติธรรมคืออะไร เราก็ยังไม่เข้าใจและไม่รู้จักว่าการกระทำใดยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม เป็นต้น ดังนั้นการสนทนาจึงเป็นการเสนอคำนิยามศัพท์ และพยายามขัดเกลาคำนิยามนั้นให้บกพร่องน้อยที่สุด

4. ทดสอบด้วยการลงมือปฏิบัติ โดยใช้วิธีการยกตัวอย่างที่มีสภาพแวดล้อมต่างกันมาช่วยโต้แย้งเพื่อขัดเกลาคำนิยาม คำนิยามใดที่ยังโต้แย้งได้ก็แสดงว่ายังไม่สมบูรณ์ จะต้องหาคำจำกัดความที่ทุกคนยอมรับโดยไม่มีข้อแย้ง

5. สรุปกฎเกณฑ์ไว้เป็นมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้อ้างอิงต่อไป รวมถึงการพิสูจน์คำนิยามดังกล่าวด้วย

พลาโต (Plato) : การเรียน คือ การทบทวนความรู้เดิม

ในทัศนะของพลาโต ความรู้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ หากเป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว (Apriori) ดังนั้น ผู้มีความรู้คือ ผู้ที่จิตของเขาได้สัมผัสกับ “แบบ” ซึ่งเป็นความจริงสูงสุด ส่วนการรับรู้อื่น ๆ เป็นเพียงความเชื่อ หรือความเห็น มิใช่ความรู้

พลาโตเสนอว่า จิตหรือวิญญาณดั้งเดิมของมนุษย์ ซึ่งเป็นอมตะนั้น คุ้นเคยกับ “แบบ” ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อจิตมาคลุกคลีกับโลกแห่งวัตถุทำให้หลงลืมไป กระบวนการศึกษาเป็นหนทางที่จะทำให้จิตฟื้นความทรงจำได้ การเรียนจึงเป็นการทบทวนสิ่งที่เคยรู้มาแล้ว ครูเป็นเพียงผู้ “ถาม” เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ครูไม่ได้ป้อนหรือให้ความรู้ใหม่แก่ผู้เรียน

พลาโตไม่เห็นด้วยกับนักปรัชญาโซฟิสต์ (อย่าง โปรตากอรัส) ที่เชื่อว่าความรู้คือประสาทสัมผัสและความเห็นส่วนบุคคล เพราะพลาโตเชื่อว่า ประสาทสัมผัสอาจลวงเราได้ และยังเป็นเพียงเงาหรือมายาภาพของแบบเท่านั้น

พลาโต กล่าวถึงความรู้ 4 ระดับคือ

1. การคาดคะเน หรือ การเดา (conjecture) จัดเป็นความรู้ที่มีความแน่นอนต่ำสุด เช่น ความรู้ที่ได้มาจากประสาทสัมผัส จินตนาการ ความฝัน ภาพสะท้อนและเงาของสิ่งต่าง ๆ (เรื่องนักโทษที่ถูกขังในถ้ำ) เป็นต้น

2. ความเชื่อ (belief) และความรู้ที่ได้จากการรับรู้ (perception) ในวัตถุสิ่งนั้น ๆ (เปรียบเทียบได้กับการที่นักโทษได้รับการปล่อยพันธนาการ แล้วถูกบังคับให้ยืนขึ้นทันทีและหันไปจ้องมองแสงสว่างดูความจริงนอกถ้ำ)

ความรู้ระดับ 1 และ 2 เป็นความรู้ที่อาศัยประสาทสัมผัส ซึ่งพลาโตเห็นว่าเป็นเพียงความเห็น หรือทัศนะ ไม่ใช่ความรู้แท้

3. ความเข้าใจ หรือความคิดตามลำดับเหตุผล (discursive intellect) เป็นความรู้ที่แม้จะยังไม่ชัดเจน แจ่มแจ้ง แต่ก็เข้าใจแล้วว่าเป็นสิ่งที่เคยเห็นในลักษณะที่เป็นเงาหรือมายาภาพ ความรู้ระดับนี้ได้แก่ ความรู้ทุกอย่างทางคณิตศาสตร์ ตลอดจนสูตรหรือทฤษฎีบทที่ใช้ในวิชาเรขาคณิต และพีชคณิต

4. การรู้แจ้งด้วยเหตุผล (rational insight) เป็นความรู้ที่มีความแน่นอนสูงสุด ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับ “แบบ” ซึ่งถือเป็นความดีและความจริงที่มนุษย์ควรแสวงหา เป็นความรู้แจ้งด้วยเหตุผลซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ ความดี (เปรียบได้กับนักโทษที่เข้าใจแล้วว่า “เงา” ไม่ใช่ของจริง พลาโตเห็นว่าคนที่มาถึงความรู้ขั้นนี้จะบรรลุถึงความดี และไม่อยากร่วมกิจกรรมที่คนทั่วไปเห็นว่าสำคัญ

ความรู้ระดับ 3 และ 4 นี้เป็นความรู้แท้ หรือเป็นศาสตร์ ที่ต้องอาศัยปัญญาในการเข้าถึง

ลัทธิเหตุผลนิยม (rationalism)

นักคิดในลัทธิเหตุผลนิยม เชื่อว่า เหตุผลเป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่ความรู้ และความรู้เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่เกิด เป็นความรู้ก่อนประสบการณ์ จึงไม่เชื่อว่าประสบการณ์จะให้ความรู้ที่ถูกต้องแน่นอน เพราะบ่อยครั้งที่ประสาทสัมผัสลวงเรา (seeing is deceiving)

เรอเน เดส์การ์ตส์ (Rene Descartes) ตั้งใจจะพิสูจน์สัจจะทางปรัชญาด้วยการใช้เหตุผล จึงเริ่มต้นวิธีการหาความรู้ด้วยการตั้งข้อสงสัยกับทุกสิ่ง

เขาได้ข้อสรุปว่า ถ้าเขา “สงสัย” ได้ ก็เท่ากับว่า เขาต้อง “คิด” และเพราะ “เขาคิด เขาจึงดำรงอยู่” อย่างที่เขากล่าวเป็นภาษาละตินว่า “Cogito, ergo sum” หรือ “I think, therefore I am.” (ฉันคิด ดังนั้น ฉันจึงมีอยู่)

การที่เดส์การ์ตส์ ตระหนักว่า ตัวเขาเป็น “สิ่งมีชีวิตที่คิดได้” ทำให้เขารู้ด้วยว่าเขาไม่ได้เป็นเพียง “ฉัน” ที่กำลังคิด แต่ฉันที่กำลังคิดนี้จริงแท้กว่าโลกวัตถุที่เรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัส

เขาคิดต่อไปว่า มีอะไรอีกหรือไม่ที่สามารถรับรู้ได้ด้วยความแน่นอนที่หยั่งรู้ได้ในใจ (intuitive) แบบนี้ เขาได้ข้อสรุปว่า ในจิตของเขามีความคิดที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง ซึ่งมีลักษณะเป็นความจริงที่จำต้องเป็น (necessary truth) เช่น “สิ่งหนึ่งไม่อาจจะอยู่สถานที่สองแห่งในเวลาเดียวกันได้” หรือ “เส้นตรงที่ขนานกันไม่มีวันจะบรรจบกันได้” เป็นต้น

เดส์การ์ตส์ แบ่งความคิดมนุษย์ออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ความคิดที่ได้จากประสบการณ์ภายนอก (Adventitious Ideas)
2. ความคิดที่จิตสร้างขึ้น (Factitious Ideas)
3. ความคิดติดตัว (Innate Ideas) ซึ่งความคิดแบบนี้เขาคิดว่าเป็นความคิด/ความรู้ที่ทุกคนมีเหมือนกันโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นความรู้ก่อนประสบการณ์ที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง

เดส์การ์ตส์ แยกชัดเจนระหว่าง จิต กับสสาร เขาเชื่อว่าสองสิ่งนี้เป็นอิสระจากกัน มนุษย์มีสสารคือร่างกายที่เป็นเหมือนเครื่องจักรที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีจิตที่ทำงานอย่างเป็นอิสระจากกาย มนุษย์จึงมีความสามารถที่อยู่เหนือความต้องการทางกาย และปฏิบัติตนอย่างมีเหตุผล นอกจากนี้เขาเชื่อเหมือนพลาโตที่ว่า จิตวิญญาณกับสสารนั้นแยกจากกันอย่างชัดเจน

ลัทธิประสบการณ์นิยม หรือ ลัทธิประจักษ์นิยม (empiricism)

ลัทธินี้เชื่อว่า มนุษย์มีความรู้ในความจริงได้ด้วยการอาศัยประสาทสัมผัสเท่านั้น ความรู้จึงเป็นสิ่งแปลกใหม่ และเป็นความรู้หลังประสบการณ์ (A Posteriori) บางครั้งก็เรียกลัทธินี้ว่า ลัทธิประสบการณ์นิยม

จอห์น ล็อค (John Locke) เป็นอีกคนหนึ่งที่มีแนวคิดเช่นนี้ เพราะเขาไม่เชื่อว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับโลกมาแต่เกิด เราจะเริ่มมีความรู้เมื่อเรา “เห็น” โลกแล้วเท่านั้น เขาเชื่อว่าการเห็นหรือการมีประสบการณ์มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1. ประสบการณ์ภายนอก (sensation) หรือประสาทสัมผัส เป็นความรู้เชิงเดี่ยว คือ ไม่ได้เป็นความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นทั้งหมด

2. ประสบการ์ภายใน (reflection) คือการที่สมองนำเอาประสาทสัมผัสเบื้องต้นไปคิดใคร่ครวญ วิเคราะห์ จนกระทั่งสามารถจัดระบบเป็นหน่วยความรู้ที่เรียกว่า มโนทัศน์ (concept) หรือความคิดรวบยอดได้ จากนั้นจึงจะสร้างเป็นความรู้ที่ซับซ้อนได้ต่อไป

จากความคิดจอห์น ล็อค จะเห็นได้ว่าความรู้ใด ๆ ของมนุษย์จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เคยมีประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสมาก่อน อนึ่ง การที่ ล็อค ปฏิเสธเรื่องความคิดติดตัว เพราะ

1. ถ้าความคิดติดตัวมีจริง ทุกคนก็ต้องมีความคิดติดตัวเท่ากัน แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น คนมีความแตกต่างกัน เรียนหนังสือก็มีได้ มีตก ไม่เท่ากัน
2. ถ้าความคิดติดตัวมีจริง ทุกคนต้องความคิดติดตัวเหมือนกัน เช่น ความคิดเรื่องพระเจ้า แต่ความจริงมีบางคนไม่นับถือพระเจ้า หรือแม้แต่ในกลุ่มที่นับถือพระเจ้าก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน
3. ถ้าคนมีความคิดเหมือนกัน ตรงกัน เช่น โลกกลม ไฟร้อน ก็เป็นเพราะเกิดจากประสบการณ์ ไม่ใช่ความคิดติดตัวที่มีมาก่อนประสบการณ์
4. ความรู้เดิม หรือความรู้ที่เป็นหลักทั่วไป เช่น ทฤษฎี ที่นำมาอ้างอิงตามหลักการอ้างเหตุผล ก็ไม่ใช่ความรู้ที่ติดตัวมาแต่เกิด หากแต่เป็นความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ จากข้อเท็จจริงตามประสาทสัมผัส แล้วนำไปสู่ข้อสรุป

ล็อค เสนอว่าเดิมจิตหรือสมองมนุษย์ว่างเปล่า บริสุทธิ์เหมือนกระดาษแผ่นหนึ่ง เรียกว่า Tabula Rasa เมื่อคลอดออกมาก็ได้ข้อมูลจากโลกภายนอก การศึกษาจึงเป็นการ “ให้” และการ “เห็น” โลกภายนอก ซึ่งสิ่งที่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักคิดแนวนี้ก็คือ สสารหรือวัตถุ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถใช้ประสาทสัมผัสสำรวจได้โดยตรง

ล็อคเห็นว่าสสารหรือวัตถุ มีคุณสมบัติ 2 อย่าง คือ คุณสมบัติปฐมภูมิ (primary quality) ได้แก่ การกินที่ น้ำหนัก การเคลื่อนที่ จำนวน ซึ่งเขาเห็นว่าคุณสมบัติแบบนี้มนุษย์สามารถรับรู้ได้แน่นอน และคุณสมบัติทุติยภูมิ (secondary quality) เช่น สี เสียง กลิ่น รส ซึ่งแต่ละคนจะรับรู้ไม่ตรงกัน อาจต่างกันไปตาม รสนิยม คุณสมบัติแบบนี้จึงไม่ได้ให้ความรู้ที่แน่นอน

ข้อพิสูจน์ความรู้

ข้อสงสัยประการหนึ่งคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรารู้นั้นเป็นความจริง? หรือ เอาอะไรมาพิสูจน์ความถูกต้องของความรู้ของเรา? เพราะหากเป็นความรู้ในสิ่งลวงหรือมายาแล้ว ก็จะเป็นความลวง ไม่ใช่ความรู้

ทฤษฎีความตรงกัน (correspondence theory) หรือ ทฤษฎีความจริงแบบสมนัย

ความตรงกัน หมายถึง ความลงรอยกัน หรือความกลมกลืนกันของความคิดและผลสรุปของการพิจารณาตัดสิน (judgment) เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นในธรรมชาติ เช่น ผลสรุปของการพิจารณาตัดสินว่า “ดอกมะลิมีกลิ่นหอม” จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า ดอกมะลิ จริง และเมื่อดมดูแล้วก็มีกลิ่นหอมจริง

จอร์จ ซานตายานา (George Santayana) นักปรัชญาสัจนิยมเชิงวิจารณ์ (Critical Realism) กล่าวว่า ความจริง ได้แก่ ความตรงกันหรือความลงรอยกันระหว่างสารัตถะหรือแก่นสาร (essence) ของสิ่งที่มีอยู่ กับการมีอยู่ (existence) อันเป็นสภาพที่ปรากฏของสิ่งนั้น ๆ โดยที่สารัตถะ ก็คือ คุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นที่ทำให้สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งอื่น เป็นคุณสมบัติที่ทำให้เรารู้กันเป็นสากลว่าคือสิ่งนั้น เช่น เก้าอี้ ไม่ใช่ โต๊ะ ส่วนการมีอยู่ก็คือ การปรากฏให้เห็นได้ทางประสาทสัมผัส

ทฤษฎีความเชื่อมนัย (coherence theory) หรือ ทฤษฎีความจริงแบบสหนัย

ความเชื่อมนัย คือ ความสอดคล้องกันเป็นระบบ ระหว่างสิ่งที่เรากำลังประสบ กับความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ เช่น ทฤษฎีเรขาคณิตที่ว่าเ มื่อเส้นตรง 2 เส้นตัดกัน มุมตรงกันข้ามย่อมเท่ากัน ดังภาพ

ที่เราได้ข้อสรุปว่า “มุม a และมุม b” เท่ากัน เพราะรูปนี้มีความเชื่อมนัยกับทฤษฎีบทที่ว่า “เส้นตรง 2 เส้นตัดกัน มุมตรงข้ามย่อมเท่ากัน” ซึ่งทฤษฎีบทดังกล่าวเป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ และเป็นสิ่งที่เรายอมรับกันโดยสากลอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อข้อสรุปใด ๆ สอดคล้องกันความจริงดังกล่าว ก็ย่อมสรุปได้ว่า ข้อสรุปนั้นเป็นความจริง

กล่าวได้ว่า ทฤษฎีความเชื่อมนัยนี้ต้องอาศัยการคิดหาเหตุผลที่ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส จึงสรุปได้ว่านักเหตุผลนิยมจะยอมรับทฤษฎีนี้

ทฤษฎีการนำไปใช้ (pragmatic theory) หรือ ทฤษฎีความจริงแบบปฏิบัตินิยม
นักปรัชญาในลัทธิปฏิบัตินิยม ถือว่า ความรู้ใด ๆ ถ้านำไปใช้งานได้ นำไปปฏิบัติได้และให้ผลดี ก็เป็นข้อพิสูจน์ยืนยันความถูกต้องของความรู้นั้น
ทฤษฏีนี้ได้รับการยอรับทั่วไปในวงการอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ต้องอาศัย “ประสิทธิภาพ” ในการทำงานเป็นสำคัญ



Positive Thinking Quotes and Saying